CKP กำไรขาขึ้น เอเซียพลัสมอง “หุ้นถูก” จนน่า “ซื้อ”

HoonSmart.com>>บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ตอกย้ำความแข็งแกร่ง หลังจากประกาศกำไรจากการดำเนินงานเติบโตถึง 111% ในปี 2563 แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง และในสปป.ลาว ปริมาณน้ำฝนตกต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ต้องประกาศเป็น”ปีแล้ง” โดยบริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ ๆ ตามแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตถึงระดับ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2568 สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ส่วนในระยะสั้น ปี 2564-2565 บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส มองเห็นกำไรสดใส

CKP มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213 ล้านบาท ก้าวกระโดด 111% จากปี 2562 หากไม่รวมการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงครั้งเดียวของ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) จำนวนมากถึง 577 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2562

สาเหตุที่บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานพุ่งแรงมากกว่า 1 เท่าตัว เพราะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากโควิด-19 เนื่องจากคู่สัญญาในการซื้อไฟฟ้าหลักคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แม้จะมีลูกค้าอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างรุนแรง และที่สำคัญบริษัทมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน XPCL เพิ่มขึ้น จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเต็มปี หลังจากเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

แนวโน้มในปี 2564 กำไรยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทได้เตรียมความพร้อมหลายปัจจัย อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 จะสามารถผลิตไฟได้เต็มที่ หลังจากปี 2563 ประกาศเป็นปีแล้ง (Drought Year) ซึ่งจะไม่ถูกปรับหากผลิตไม่ได้ตาม Minimum Guarantee ที่ตกลงไว้ในสัญญา จึงประกาศค่าความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าอย่างระมัดระวังในปี 2563 เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในปีนี้

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีก็บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 และสูงต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน จากปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นตามปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นใน สปป.ลาว และภายในปีนี้คาดจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน XPCL เพิ่มขึ้นจาก 37.5% เป็น 42.5% หลังจากบอร์ดเพิ่งอนุมัติให้บริษัทซื้อหุ้น บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จากบริษัท พีที จำกัดผู้เดียว (PTS) สัดส่วน 5% จำนวน 134 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 1,827 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 เพื่ออนุมัติในลำดับต่อไป

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า จากการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ตามแผน  และจะรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 1 แห่ง กำลังการผลิต 2.7 เมกะวัตต์     ที่เริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการเอกชนในปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

สำหรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หลวงพระบาง ก็มีความชัดเจน บริษัทเข้าซื้อหุ้น บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (LPCL) จำนวน 42% จากบริษัท พีที จำกัดผู้เดียว มูลค่ารวมประมาณ 12.8 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ที่แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว หากศึกษาแล้วเสร็จก็จะเดินหน้าลงทุนโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่าไซยะบุรี

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความแข็งแกร่งทางการเงิน มีเงินสดและรายการเทียบเท่า ณ สิ้นปี 2563 ทั้งสิ้น 8,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,685 ล้านบาทจากสิ้นปี 2562 และมีอัตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.60 เท่า ขณะที่ยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้กับสถาบันการเงินรวม 9,500 ล้านบาท สะท้อนถึงสภาพคล่องและเงินทุนพร้อมที่จะลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ที่เห็นโอกาสในอนาคต ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง หลังจาก บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 (NN2) ได้ออกหุ้นกู้เพื่อชำระคืนสถาบันการเงินทั้งหมดแล้วเสร็จตั้งแต่ 2562 และอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงในปีที่ผ่านมา

บล.เอเซียพลัส เพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ให้มูลค่าเป้าหมาย 6.15 บาท เห็นราคาหุ้น CKP ปรับฐานจนน่าสนใจ มองเป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุน แถมจ่ายเงินปันผล 0.035 บาท/หุ้น (XD 29 เม.ย. 2564) และ บล.เคทีบีเอสที ก็แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 5.80 บาท เทียบกับราคาปิดที่ 4.38 บาท เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564

บล.เอเซียพลัส มองเห็นการเติบโตของกำไร CKP หลังจากได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร ได้รับข้อมูลว่าบริษัทบริหารจัดการปริมาณน้ำให้พร้อมผลิตไฟฟ้าในช่วงหน้าแล้งครึ่งปีแรก และคาดว่าฝนจะตกตามฤดูกาล อีกทั้งผู้บริหารยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 2,200 เมกกะวัตต์ และหากรวมโครงการหลวงพระบางจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 เมกะวัตต์

ในปี 2564 CKP ได้ตั้งงบลงทุนราว 4,000-6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวน 3,000-4,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่หลวงพระบาง กำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ โดย CKP ถือหุ้น 42% คาดจะได้ข้อสรุปเรื่อง Tariff MOU ในช่วงกลางปีนี้ ส่วนเงินลงทุนที่เหลือราว 2,000 ล้านบาท จะเป็นการทำ M&A โดยยังคงให้น้ำหนักไปที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโซลาร์เป็นหลัก

“คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 1 จะพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 หลัก ๆ มาจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ประกาศค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 419 GWh จาก 102 GWh ในงวดก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำตุนไว้เกือบเต็มอ่าง และครึ่งปีแรกน่าจะผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณเฉลี่ยปกติ ถึงแม้ไซยะบุรีจะผลิตไฟได้ลดลง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำไหลผ่าน ต้องรอประเมินสถานการณ์ช่วงฤดูฝนกลางปีอีกครั้ง ซึ่งผู้บริหารเชื่อว่าปี 2564 ฝนน่าจะตกตามฤดูปกติ เบื้องต้นยังคงประมาณการกำไรปี 2564 ที่ระดับ 1,024 ล้านบาท จะเติบโต 152.8% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 405 ล้านบาท และปีหน้าจะมีกำไรประมาณ 1,224 ล้านบาท” บล.เอเซียพลัส ระบุ

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส ยังได้เพิ่มเติมว่า “การเดินหน้าลงทุนในโครงการหลวงพระบาง เพื่อต่อยอดกำไรระยะยาว คาดว่าการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2564 คาดสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 6,850 ล้านหน่วยต่อปี ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นที่ 42% ราว 613 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 939 เมกะวัตต์ ถือว่าค่อนข้างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าไซยะบุรี ที่มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (XPCL-CKP ถือหุ้น 37.5%) ส่วนแบ่งกำไรที่จะได้รับเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานที่ใกล้เคียงกับไซยะบุรี 1,200-1,500 ล้านบาท และจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 8-10 ปี (ไซยะบุรีใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี) รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างน่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีที่อยู่ราว 1.1 แสนล้านบาท”