HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ลดอันดับเครดิต “ไทยแอร์เอเชีย” เหลือ B+ จาก BB ส่วนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ลดลงเหลือ B จาก BB พร้อมคงแนวโน้มเครดิตพินิจ Negative คาดส่วนผู้ถือหุ้นติดลบมากขึ้น ผลงานอ่อนแอจากพิษโควิด-19 ห่วงสภาพคล่องตึงตัวใน 6 เดือนข้างหน้า
บริษัท ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เป็นระดับ B+ จาก BB และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ B จาก BB ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคง เครดิตพินิจ แนวโน้ม Negative หรือ ลบ สำหรับอันดับเครดิตของบริษัทด้วย โดยการลดอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เป็นลบเนื่องจากผลการดำเนินงานที่แย่กว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ เป็นผลมาจากการระบาดรอบสองของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ส่งผลกระทบมากขึ้น โดยการแพร่ระบาดที่ยาวนานและความล่าช้าในการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นลบมากยิ่งขึ้น
อันดับเครดิตของบริษัทยังถูกจำกัดจากสภาพคล่องที่ตึงตัว ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งนี้ สถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยและประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนยังเป็นจุดแข็งที่สนับสนุนสถานะทางธุรกิจของบริษัท
อันดับเครดิตตราสารหนี้มีระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิของหุ้นกู้เมื่อเปรียบเทียบกับเงินกู้ที่มีหลักประกัน โดย ณ สิ้นเดือนธ.ค.2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวม 76% และอัตราส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีหลักประกันสุทธิต่อหนี้ที่ไม่มีหลักประกันสุทธิยู่ที่ระดับ 33%
ด้านผลการดำเนินงานอ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหม่ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอ่อนแอในปี 2564 แต่จะฟื้นตัวขึ้นในปี 2565-2566 หลังจากที่กลับมาให้บริการ 100% ของปริมาณที่นั่งในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งแรก บริษัทต้องลดปริมาณที่นั่งลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดในรอบที่ 2 ซึ่งเริ่มในช่วงปลายเดือนธ.ค.2563 โดยความต้องการการเดินทางทางอากาศในประเทศลดลงอย่างมากเนื่องจากนักเดินทางมีความกังวลมากขึ้นต่อการติดเชื้อแม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ดำเนินมาตรการปิดพื้นที่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดครั้งใหม่ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 และบริษัทจะสามารถกลับมาเปิดเส้นทางการบินในประเทศได้ทั้งหมดในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศอาจจะไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้จนถึงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้าทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ โดยบริษัทมีแผนจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณที่นั่งในปี 2565 ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะยังมีผลขาดทุนจำนวนมากในปี 2564 และผลการดำเนินงานจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และ 2566 ทั้งนี้ คาดว่าส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีผลเป็นลบมากขึ้นในปี 2564 และต้องใช้เวลาสักระยะในการปรับให้เป็นผลบวกได้
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นเป็น 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 14% ในปี 2564 ก่อนปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 20% ในปี 2565 และ 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เจรจากับผู้จัดหาต่าง ๆ ในการขอเลื่อนการชำระค่าใช้จ่ายคงที่บางรายการออกไป และเลื่อนการจัดหาเครื่องบินใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ระหว่าง 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ด้านราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยของบริษัทลดลงอย่างมากตั้งแต่ยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศ เนื่องจากราคาตั๋วเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยเฉลี่ยมีราคาเกือบเป็นสองเท่าของราคาตั๋วเที่ยวบินในประเทศโดยเฉลี่ย ราคาตั๋วโดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 1,428 บาทต่อใบในปี 2562 เป็น 1,000-1,200 บาทในช่วงปี 2563-2564 ทริสเรทติ้งประมาณการค่าตั๋วเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 1,350-1,400 ต่อใบในปี 2565 และ 2566 หลังจากที่กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทลดลงเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการแพร่ระบาดส่งผลให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลงอย่างมากเนื่องจากความกังวลในโอกาสในการติดเชื้อ เพื่อตอบสนองกับความต้องการที่ลดลงบริษัทได้ยกเลิกและลดความถี่เที่ยวบินลง อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทคาดว่าจะอยู่ประมาณ 74% ในปี 2564 และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 78%-80% ในช่วงปี 2565-2566 ตามการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ
สำหรับภาระหนี้อยู่ในระดับสูงต่อไปในปี 2564 แต่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และ 2566 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 15 เท่าในช่วงปี 2564 เนื่องจากผลจากการดำเนินงานที่อ่อนตัวลง โดยอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 8-9 เท่าในปี 2565 และ 2566 ตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงจำนวนเครื่องบินไว้ที่ประมาณ 56-58 ลำ และจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100%
อย่างไรก็ตามความกังวลหลักของทริสเรทติ้งคือสภาพคล่องที่ตึงตัวของบริษัทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 1 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดออกประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2564 บริษัทอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินทุกรายเพื่อที่จะเลื่อนการชำระค่าเช่าเครื่องบินของปี 2564 ไปเป็นปีหน้า บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า (ไม่รวมภาระหนี้จากการเช่า) ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาวจำนวน 2.3 พันล้านบาทซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 1.5 พันล้านในเดือนมิถุนายน 2564 โดยบริษัทอยู่ในระหว่างกระบวนการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้สำหรับการเลื่อนการชำระคืนหุ้นกู้บางส่วนหรือทั้งจำนวน สำหรับเงินกู้ระยะยาวอื่น ๆ บริษัทกำลังเจรจากับผู้ให้กู้ยืมทุกรายเพื่อเลื่อนการชำระคืนเงินต้นไปเป็นปีอื่น ๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้ระยะสั้นอีกจำนวน 1.8 พันล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถต่ออายุภาระหนี้ระยะสั้นได้ทั้งหมด เพื่อปรับปรุงสถานะสภาพคล่องของบริษัท บริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการหาแหล่งเงินทุนจากเงินกู้จากธนาคาร เงินกู้จากทางภาครัฐ หรือการเพิ่มทุน ทริสเรทติ้งเห็นว่าความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากความกดดันจากการต้องชำระหนี้ในขณะที่การหาแหล่งเงินทุนยังมีความไม่แน่นอน
ข้อกำหนดทางการเงินของวงเงินกู้ยืมบางแห่งระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 4 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 3 เท่า จากผลประกอบการที่จะอ่อนตัวลงอย่างมากส่งผลทำให้บริษัทไม่สามารถดำรงสัดส่วนทางการเงินตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการผ่อนปรนข้อกำหนดทางการเงินจากผู้ให้สินเชื่อแล้ว