หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บังคับใช้ผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน หรือ CFO (Chief Financial Officer) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำหรับบริษัทที่จะยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) นั้น ต้องมีคุณสมบัติ เช่น ทำงานกับบริษัทก่อนยื่นไฟลิ่ง ไม่น้อยกว่า 1 ปี และต้องไม่ลาออกระหว่างยื่นไฟลิ่ง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทที่กำลังยื่นไฟลิ่ง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่กำลังจะบังคับใช้ในปี 2562
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวว่า ขณะนี้ CFO มีบทบาทสูงมากกับบริษัทที่กำลังยื่นไฟลิ่ง และเป็นที่ต้องการสูงของบริษัทต่างๆ ทำให้ CFO สามารถเรียกผลตอบแทนสูงขึ้น หรือโก่งค่าตัวได้ รวมทั้งต่อรองเรื่องการจัดสรรหุ้น IPO ด้วย ซึ่งบริษัทที่กำลังยื่นไฟลิ่ง จำเป็นต้องยอมตามเงื่อนไขที่ CFO ต้องการ เพื่อให้บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
แหล่งข่าว ซีเอฟโอ กล่าวว่า CFO เป็นที่ต้องการของตลาด และมีความสำคัญอย่างมากกับบริษัทที่เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีความต่อเนื่องกับงานที่ทำ ซึ่งหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกกฎเกณฑ์คุณสมบัติ CFO เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพของ CFO ทำให้เกิดปัญหาสัญญาจ้างที่สูงขึ้นกว่าปกติ
“CFO ขาดแคลนและหายากช่วงนี้ เพราะมีบริษัทเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น การกำหนดคุณสมบัติเข้มข้น หาคนตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต.กำหนด ซีเอฟโอ จึงเป็นมนุษย์ทองคำสายพันธุ์ใหม่ มาระยะหนึ่งแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่า บางบริษัท CFO ผลตอบแทนมากกว่าเจ้าของซึ่งเป็น CEC ขณะนี้พบว่าที่ปรึกษาการเงิน , วาณิชธนกิจ ที่มีคุณสมบัติเป็น CFO ได้ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. ลาออกไปเป็นซีอีโอ จำนวนมาก เพราะให้ผลตอบแทนดี รวมทั้งต่อรองหุ้น IPO กับบริษัทที่กำลังยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหุ้น กรณี CFO ลาออกระหว่างยื่นไฟลิ่ง ทำได้แต่บริษัทต้องตั้งตัวแทนใหม่ขึ้นมา คือ สมุห์บัญชี ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถดูแลสานต่อไปได้
“ซีเอฟโอ เป็นมนุษย์ทองคำอยู่แล้ว เป็นที่ต้องการสูง อัตราผลตอบแทนหรือค่าตัว สูงขึ้นกว่าเดิมมาก บางเคส CFO เงินเดือนมากกว่าเจ้าของ CEO ทั้งนี้ผลประโยชน์ขึ้นอยู่ที่การเจรจาต่อรองระหว่างเจ้าของกับ CFO ด้วย” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ คุณสมบัติ CFO และสมุห์บัญชี ต้องมีความรู้ด้านบัญชีและประสบการณ์ทำงาน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล สำหรับบริษัท IPO ที่ยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561
CFO ด้านความรู้ทางด้านบัญชี – จบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า, การเข้าอบรม หลักสูตร Orientation ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปี (ครั้งแรก) ปีต่อมา เข้าอบรมเพื่อ update ความรู้ทางบัญชีไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อปี
ประสบการณ์ทำงานด้านบัญชีหรือการเงิน ไม่น้อยกว่า 3 ปี ภายในระยะเวลา 5 ปี, ดำรงตำแหน่ง CFO ในบริษัทอย่างน้อย 1 ปี