เงินเฟ้อก.พ.หดตัว 1.17% พณ.ไม่ห่วง คาดเม.ย.พลิกเป็นบวก

HoonSmart.com>>เงินเฟ้อเดือนก.พ.หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ได้มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐช่วย 2 เดือน ก.พ.-มี.ค. ราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนตามตลาดโลก พาณิชย์คาดเงินเฟ้อมี.ค.ติดลบน้อยลง ก่อนพลิกเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ยังคงคาดการณ์ทั้งปีเฉลี่ย 1.2%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.พ.2564 อยู่ที่ 98.88 ลดลง -1.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลต่อไทยในเดือนมี.ค.2563 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง -0.75%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตรเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.พ. อยู่ที่ 100.39 เพิ่มขึ้น 0.04% ส่งผลให้เฉลี่ย 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 0.12%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของเดือนก.พ.ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งจะมีระยะเวลาในเดือนก.พ. และ มี.ค. หากไม่มีมาตรการดังกล่าว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวเพียง -0.12% เท่านั้น

สำหรับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัว  เคลื่อนไหวตามปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคของประชาชน ยกเว้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามตลาดโลก และดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง -0.43% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และลดลง -0.63% จากเดือนม.ค.2564 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เดือนก.พ. ลดลง -1.60%  และลดลง -1.10% จากเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

ในเดือนก.พ.2564 พบว่ามีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. รวม 123 รายการ เช่น น้ำมัน และแก๊สโซฮอล์, น้ำมันพืช, ส้มเขียวหวาน และองุ่น เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง มี 123 รายการเช่นกัน ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ผักบุ้ง, ผักกาดขาว, ไข่ไก่ และข้าวสารเจ้า เป็นต้น

นายภูสิตกล่าวว่า สถานการณ์ด้านการผลิตและบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อัตราการใช้กำลังการผลิตก็กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจยังออกมาอย่างต่อเนื่อง

“คาดว่าอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนมี.ค. จะเริ่มติดลบน้อยลง และจะมีแนวโน้มเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.หรือตั้งแต่ไตรมาส 2  เป็นต้นไป ตามสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 อยู่ในกรอบ 0.7-1.7% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.2%” นายภูสิตกล่าว