ลงทุนเพื่อสังคม กับ วิธีวัดผลแบบใหม่ เพราะกำไรสูงสุดไม่ใช่คำตอบ

“สำหรับธุรกิจเพื่อสังคมเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่จากการจัดงาน SET Social Impact Day ใน 2 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างพันธมิตรต่อยอดธุรกิจแล้ว 37 คู่ธุรกิจ มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และในปีต่อๆ ไป หวังว่ามูลค่าเศรษฐกิจจะสูงกว่านี้” ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงาน SET Social Impact Day 2018 ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้

ชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมีนักลงทุนที่ยินดีจะได้ผลตอบแทนน้อยจากการร่วมลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพราะรู้ว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่ตัวเงิน แต่สังคมดีขึ้นจากสิ่งที่สนับสนุน สิ่งที่ลงทุน

“แนวทางนี้กำลังมาแรง โดยเห็นจากจำนวนเงินลงทุนเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนก็พยายามช่วยเหลือสังคม โดยการลงทุนในบริษัทที่มีความต้องการช่วยเหลือสังคม ถ้าลงทุนบริษัทจดทะเบียนก็ลงทุนบริษัทที่มี ESG (หุ้นยั่งยืน) หรือลงทุนใน SE ก็ได้ ขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม น่าจะออกมาได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจเพื่อสังคมอีกทางหนึ่ง” ชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่ถ้าทำดีๆ จะเป็นธุรกิจสามารถหากำไรได้ แต่ไม่ได้เอากำไรไปใช้หมด นำไปลงทุนต่อ ส่งคืนกลับสังคม และส่วนหนึ่งนำมาตอบแทนผู้ถือหุ้น

SE แบบไหนคุ้มค่าน่าลงทุน

สำหรับนักลงทุนจะตัดสินจากอะไรว่า ธุรกิจเพื่อสังคมแบบไหนที่จะ “คุ้มค่าน่าลงทุน” โดยที่ธุรกิจอยู่ได้ สังคมอยู่รอด มีกำไรเป็นของแถม

ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การประเมินมูลค่าธุรกิจในแบบเดิมๆ โดยเน้นเฉพาะการเติบโตและผลกำไรเพียงอย่างเดียว เช่น การประเมินเฉพาะผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment : ROI) หรือ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนยุคใหม่

“เมื่อก่อนธุรกิจก็คิดแต่จะทำกำไรอย่างเดียว ไม่สนใจว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมา แต่ยุคนี้ต้องคิดว่ามากกว่า ผลกำไร ต้องคิดว่าลงทุนแล้วทำอย่างไรให้ win-win เพราะนักลงทุนเองก็ให้ความสำคัญในประเด็นนี้” ปริญญ์ กล่าว

พร้อมกับยกตัวอย่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ประเทศนอร์เวย์ ที่บริหารโดย Norges Bank Investment Management มีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่ลงทุนอุตสาหกรรมถ่านหิน เพราะเป็นพลังงานที่สร้างมลพิษ ขณะเดียวกันนักลงทุนสถาบันเริ่มเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) มากขึ้น มีการตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจที่มี ESG หรือ SI มีจำนวนมากขึ้น แม้แต่กองทุนประเภท Robo Trade ก็ใส่ CG Score เข้าไปในโมเดล

ข้อมูลจาก Asia ETF Forum เมื่อเร็วนี้ ชี้ว่า ETF มีการเติบโต 50% เทียบกับปีที่ผ่านมา และมีเงิน 3 แสนกว่าล้านเหรียญกำลังจะเข้ามาลงทุนในหุ้นยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนดี โดยเห็นได้จาก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ที่ระยะยาวให้ผลตอบแทนดีกว่าหลายบริษัท

“ประเทศไทยควรคิดดัชนีชี้วัดตัวใหม่ไหม เพราะการจะสร้างธุรกิจที่มีความมั่งยืนได้ ต้องไม่มองแค่ตัวเลข เพราะต่อให้กำไรดี แต่ไม่รับผิดชอบสังคมก็ไม่ลงทุน โดยในบางประเทศเริ่มให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน เป็นผลตอบแทน แต่จะดูตัวชี้วัดด้านอื่นประกอบด้วย” ปริญญ์ กล่าว

นอกจากนี้ ปริญญ์ กล่าวอีกว่า “ภาครัฐควรให้สิทธิพิเศษ กับ ธุรกิจเพื่อสังคม มากกว่านี้เพื่อสนับสนุนและทำให้อยู่รอดได้จริง”

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งสร้างตัวชี้วัดมาตรฐาน

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะจัดทำตัวชี้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อสังคม ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

“ในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 98% มีการทำงานเพื่อความยั่งยืนกันอยู่แล้ว แต่ทำในรูปแบบที่แตกต่างกัน และในระดับที่แตกต่างกัน แต่จะวัดผลออกมาอย่างไรให้เป็นมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งต้องหาตัวแปรที่มาแทนค่าเป็นตัวเงินให้ได้” นพเก้า กล่าว

นพเก้า กล่าวว่า ในต่างประเทศมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะเหมาะสมกับธุรกิจเพื่อสังคมในแต่ละด้าน

หนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งที่ได้รับความสนใจ คือ การคำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment : SROI) ซึ่งเทียบได้กับ ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment : ROI) ที่นักลงทุนคุ้นเคย

จาก คู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ฉบับปรับปรุง 2560 โดย สฤณี อาชวานันทกุล และ ภัทราพร แย้มลออ ระบุว่า SROI เป็นการคำนวณผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแปลงมูลค่ากิจกรรมให้เป็นตัวเลขทางการเงิน เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

ปัจจัยความสำเร็จร่วมกัน

นพเก้า ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันของบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจเพื่อสังคมที่มีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวกลางว่า อาจจะไม่ใช่เพียงการเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน แต่ธุรกิจเพื่อสังคมจะเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของบริษัทจดทะเบียน เช่น เป็นลูกค้า เป็นคู่ค้า มีการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

ณฐมน กะลำพะบุตร ผู้จัดการสำนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวถึง การลงทุนเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 9,000 ไร่ ของ CPF ว่า หนึ่งในกระบวนการที่ทำให้โครงการยั่งยืน คือ ชุมชนต้องมีส่วนช่วยดูแล โดยทำให้ป่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อให้มีรายได้

“CPF ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยว แต่ได้รู้จักกับ Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีความเข้มแข็งและความสุขของชุมชนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ จึงได้ทำงานร่วมกัน” ณฐมน กล่าว
การปลูกป่าไม่ได้ปลูกเมื่อผู้บริหารว่าง เวลาไม่เหมาะสมต้นไม้ตาย

พงศ์ธร ธาราไชย บริษัท ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) หนึ่งในทีมโค้ชจากโครงการ SET Social Impact Gym โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวตรงไปตรงมาว่า “ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะทำธุรกิจก็ยากอยู่แล้ว ยังต้องสร้างมูลค่าให้สังคม ทำให้ยั่งยืนไปพร้อมกัน และถ้าทำแล้วไม่มีรายได้ ธุรกิจจะยั่งยืนได้อย่างไร”

แต่ พงศ์ธร มั่นใจว่า ธุรกิจเพื่อสังคมจะยั่งยืนได้ โดยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน Value Chain ของบริษัทจดทะเบียน เหมือนกับ Green Style ธุรกิจเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่ปรึกษาการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) ให้กับ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จนได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

“แต่ไม่ว่าทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ สิ่งที่ได้ คือ การจุดประกาย ว่ามีคนทำอยู่จริง เป็นการส่งต่อความดีนั้นไป และอยากจะบอกว่า ทำความดี พร้อมๆ กับอยู่รอดทำได้จริง” พงศ์ธร กล่าว