ดาวโจนส์ปิดบวก 90 จุด ยอดค้าปลีกสูงกว่าคาด วิตกเงินเฟ้อ

HoonSmart.com>> ดาวโจนส์ปิดบวก 90 จุด ยอดค้าปลีกสูงกว่าคาด ท่ามกลางความวิตกเงินเฟ้อ เฟดย้ำใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ ด้านตลาดหุ้นยุโรปร่วง ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ กดกำลังผลิต

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ปิดที่ 31,613.02 จุด เพิ่มขึ้น 90.27 จุด หรือ 0.29% เป็นการปิดที่นิวไฮ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน จากการปรับตัวขึ้นของเวอร์ไซซอน และเชฟรอน

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,931.33 จุด ลดลง 1.26 จุด, -0.03%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,965.50 จุด ลดลง 82.00 จุด, -0.58%

หุ้นเวอร์ไซซอนเพิ่มขึ้น 5.2% หลังจากบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์เปิดเผยว่า ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทรวมมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเป็นบริษัทที่บริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ถือครองหุ้นสูงเป็นอันดับ 6

หุ้นเชฟรอนเพิ่มขึ้น 3% หลังจากบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์เข้าซื้อหุ้น 4.1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน

นักลงทุนขานรับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเดือนมกราคมของธนาคารกลาง (เฟด) ซึ่งส่งสัญญานว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมาที่ระดับก่อนการระบาด

รายงานระบุว่า คณะกรรมการเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังห่างไกลจากเป้าหมายของคณะกรรมการ ดังนั้นจุดยืนนโยบายจะยังสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยเฟดมีเป้าหมายที่จะหนุนเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมา 2% นอกจากนี้ความวิตกที่ว่าเฟดจะลดการอัดฉีดเงินได้ผ่อนคลายลง เพราะรายงานการประชุมระบุว่าเฟดจะยังซื้อพันธบัตรต่อเนื่องจนกว่ามีความคืบหน้าตามเป้าหมายอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามนักลงทุนวิตกต่อเงินเฟ้อมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะทะลุเป้าหมายของเฟด หลังจากยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด โดยยอดค้าปลีกเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 5.3% สูงกว่า 1.2% ที่นักวิเคราะห์คาด และเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 1.3% เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2009

การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ยิ่งตอกย้ำการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 1.33% ก่อนที่จะปิดไม่เปลี่ยน แปลง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีอ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบปี แต่ยังคงเหนือ 2%

นอกจากนี้ยังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดโจ ไบเดนที่มีวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก เพราะการใช้จ่ายจากมาตรการจะต่อเนื่อง 2 ปี

เฟด เผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 1.0% จาก 0.9% ในเดือนก่อนเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และสูงกว่า 0.7% ที่นักวิเคราะห์คาด

หุ้นกลุ่มพลังงานยังเพิ่มขึ้น 1.45% หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นไปเหนือระดับ 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 1.56% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ บวก 1.04%

หุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคปรับตัวขึ้น จากยอดค้าปลีกเดือนมกราคม โดยหุ้นไทสัน ฟู้ดส์ พุ่งขึ้น 2.33% หุ้นพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) เพิ่มขึ้น 0.41% หุ้นคิมเบอร์ลีย์-คล้าค เพิ่มขึ้น 0.41%

แต่กลุ่มเทคโนโลยีลดลง โดยหุ้น Nvidia ลดลง 2.77% หุ้นแอปเปิล ลดลง 1.76%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นักลงทุนเกาะติดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินเฟ้อ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020

นอกจากนี้ อังกฤษเผยเงินฟ้อเดือนมกราคมที่สูงกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 0.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากราคาอาหารที่สูงขึ้น

นักวิเคราะห์จาก JPMorgan Asset Management ระบุว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและอาจทดสอบเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางอังกฤษภายในปีนี้ หลังจากผู้บริโภคสามารถใช้เงินที่ออมไว้125 พันล้านปอนด์ ในช่วงล็อกดาวน์

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 416.10 จุด ลดลง 3.10 จุด, -0.74%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,710.90 จุด ลดลง 37.96 จุด, -0.56%
ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,765.84 จุด ลดลง 20.69 จุด, -0.36%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,909.27 จุด ลดลง 155.33 จุด, -1.10%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.09 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 61.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 99 เซนต์ หรือ 1.6% ปิดที่ 64.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
อ่านข่าว

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อากาศหนาวเย็นกดดันการผลิต