บล.กสิกรไทยให้แนวรับแรก 1500 แนวต้าน 1520

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวไม่มาก  รอตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 กำไรของบจ. สถานการณ์โควิด และความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (15-19 ก.พ.2564) ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวรับที่ 1,500 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,530 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. ปัจจัยทางการเมือง สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน

หุ้นลดช่วงบวกลงก่อนปิดหยุดยาว โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,508.35 จุด เพิ่มขึ้น 0.78% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 92,117.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.64% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.77% มาปิดที่ 380.18 จุด

หุ้นดีดตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส

อย่างไรก็ดี หุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ก่อนจะปรับตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น หลังตลาดตอบรับปัจจัยบวกดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ประกอบกับนักลงทุนปรับลดสถานะการลงทุนก่อนปิดหยุดยาวและรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในช่วงสัปดาห์หน้า

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (15-19 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาททยอยแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับทิศทางของหลายสกุลเงินในเอเชียและแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงโดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของประธานเฟด

ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และข้อมูลที่สะท้อนว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ก็เป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.87 เทียบกับระดับ 30.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ก.พ.)