ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เตือนธุรกิจ รับมือต้นทุนหุ้นกู้สูงขึ้น

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะปานกลางถึงยาวขึ้นตามบอนด์สหรัฐ  โจทย์ใหญ่ธุรกิจ คิดให้ดีก่อนออกหุ้นกู้  ต้นทุนเพิ่มชัวร์ 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มทยอยปรับตัวขึ้นในปีนี้ หลังจากเริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรระยะกลางถึงระยะอายุไม่เกิน 10 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury Yield) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.2563 จึงมีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนทางการเงินจะทยอยขยับสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนออกหุ้นกู้ และ/หรือมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (ตราสารหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนดประมาณ 7.2 แสนล้านบาท) นอกไปจากโจทย์การดูแลความเพียงพอและจัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นในช่วงการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไปก่อน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2564 มีแผนการระดมทุนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าระดับ 2 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสภาพคล่องในระบบยังคงอยู่ในระดับสูง และน่าจะเพียงพอรองรับความต้องการระดมทุนของภาคส่วนต่างๆ แต่ต้นทุนการกู้เงิน ในระยะที่ยาวมากกว่า 1 ปี มีโอกาสทยอยขยับสูงขึ้น  แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับเดิมตลอดทั้งปี 2564 ก็ตาม

ขณะที่ผลกระทบจากความต้องการระดมทุนส่วนเพิ่มจากภาครัฐ น่าจะลดทอนลงเนื่องจากธปท. ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรธปท. บางส่วน และยังมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องให้มีความเพียงพอ ตามจังหวะที่พันธบัตรธปท. จะทยอยครบกำหนดในช่วงระหว่างปี 2564 อีก 2.3 ล้านล้านบาท รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในมือสูงถึง 4.5 ล้านล้านบาท (ณ พ.ย.63) ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาทเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนที่เกินจากที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. (คำนวณจากประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในระยะเวลา 30 วัน)

นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาล หรือ Credit Spread ของการออกหุ้นกู้ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ และยังคงไม่ได้ปรับตัวลดลงมามากนักนับจากช่วงการระบาดของโควิดรอบแรกในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตในตลาดหุ้นกู้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และนักลงทุนบางส่วนอาจจะยังมีความกังวลในการกลับเข้าลงทุนในภาวะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง