คาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้แค่ 7-7.5 แสนลบ. สมาคมเตือนมีหลักประกันไม่ปลอดภัยเสมอ

HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดปีนี้ธุรกิจหันไปขอสินเชื่อแบงก์แทนออกหุ้นกู้ ต้นทุนต่ำกว่า คาดดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 0.50% เงินต่างประเทศเข้าตลาดน้อยลง ผลตอบแทนไทยใกล้เคียงสหรัฐ เตือนนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน มีความเสี่ยง อาจจะไม่ได้รับเงินคืน ที่ดินอสังหาฯกว่าจะขายได้ ใช้หุ้นค้ำยิ่งแย่ สิทธิเจ้าหนี้ลดเป็นเจ้าของได้รับชำระหลั

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ และ น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย แถลงแนวโน้มภาวะตลาดตราสารหนี้ปี2564 คาดว่า เอกชนจะออกหุ้นกู้มูลค่า 7-7.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่เสนอขายจำนวน 6.8 แสนล้านบาท แม้ว่าปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวน 7.3 แสนล้านบาทก็ตาม เพราะบางส่วนกลับไปหาสินเชื่อของธนาคาร ที่มีต้นทุนถูกกว่า รวมถึงหุ้นกู้ที่เลื่อนการชำระจากปีก่อน ก็ใช้สินเชื่อแบงก์ ทำให้ไม่เกิดการผิดนัดชำระคืน

แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายคงคงไว้ที่ 0.5% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะทยอยขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนระยะสั้นและระยะกลางมีกรอบจำกัดในการขึ้น เพราะสภาพคล่องในระบบยังสูง

ส่วนเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ในปีนี้จะชะลอลง ต้นปีไหลออก 6,800 ล้านบาท เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยแทบจะไม่ขยับ อยู่ใกล้เคียงกับพันธบัตรสหรัฐ ไม่จูงให้เงินทุนเข้ามา ซึ่งเลือกไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล

นายธาดากล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตา คือการออกไฮยีลด์บอนด์ในปี 2563  เพียง 44,434 ล้านบาท ลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อนที่ 8 หมื่นล้านบาท และ ไฮยีลด์บอนด์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ที่มีประกัน  เพิ่มเป็น 57%  จากที่มีสัดส่วน 38% อยากให้นักลงทุนพิจารณาเรื่องการไม่ผิดนัดชำระหนี้  เพราะการใช้หลักประกัน  เช่นสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน 25% จะมีผลในทางปฎิบัติ จะประเมินอย่างไรในการนำไปขายทดตลาด จะใช้เวลานานแค่ไหน  และอีก 1% ใช้หุ้นมาค้ำประกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นหลักประกันหรือไม่ เพราะลำดับสิทธิในการเรียกร้องจะด้อยลงจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ นักลงทุนต้องพิจารณาธุรกิจ รายได้ในอนาคต

สำหรับการออกหุ้นกู้ระยะสั้น ลดลงตั้งแต่ปี 2562 เพราะจำกัดการเสนอขาย B/E ให้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน  โดยรวมของการหุ้นกู้ลดลงทั้งเรียลเซคเตอร์ และสถาบันการเงิน  เพราะเงินล้น และเครดิตสเปรดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 หนักๆ  ช่วงที่ล็อกดาวน์ประเทศ มีความเสี่ยงสูงเดือนมี.ค. เพิ่มจากปีก่อน