พิษโควิด! ฉุดกองทุนรวมปี 63 ลดลง 6.53% ต่ำสุดรอบ 23 ปี

HoonSmart.com>> โควิด-19 ฉุดอุตสาหกรรมกองทุนรวมปี 63 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิลดลง 3.52 แสนล้านบาท เหลือ 5.03 ล้านล้านบาท ติดลบ 6.53% ต่ำสุดรอบ 23 ปี ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรก Panic Sell ปิดกองทุนตราสารหนี้ ด้านกองทุนหุ้นไทยสินทรัพย์ลดลง 22.3% เงินไหลออกกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท สวนทางกองทุนหุ้นต่างประเทศโตแรง 62% ด้านบลจ.กสิกรไทย กอดส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 22.07% บริหารเม็ดเงินกว่า 1.11 ล้านล้านบาท

สำนักข่าว HoonSmart.com รวบรวมข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) อุตสาหกรรมกองทุนรวม ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2563 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) รวมอยู่ที่ 5,037,786 ล้านบาท ลดลง 351,921 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 5,389,707 ล้านบาท ซึ่งติดลบ 6.53% ทั้งนี้ ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 แต่ตัวเลขดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 1/2563 ซึ่ง NAV ติดลบหนักถึง 15.3% ลงไปแตะ 4.6 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ตลาดทุนและตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ปี 2563 ลดลง 130.49 จุด หรือ -8.25% จากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ผลตอบแทน SET TR ปี 2563 อยู่ที่ -5.2% ส่งผลให้มูลค่าราคาหุ้นที่กองทุนถือลงทุนมีมูลค่าลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หนุนมูลค่าสินทรัพย์กองทุนที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ด้านกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกถูกผลกระทบหนักจากโควิด-19 ในช่วงเดือนมี.ค.2563 ส่งผลให้นักลงุทน Panic Sell ขายกองทุนจนต้องปิด 4 กองทุนตราสารหนี้มูลค่าประมาณ 4.5 แสนล้านบาทฉุดภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2563

สำหรับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมตราสารหนี้ฟื้นตัวขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวปิดสิ้นปีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,323,880 ล้านบาท ลดลง 269,498 ล้านบาท หรือ -10.39% จากสิ้นปี 2562 กองทุนหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1,450,036 ล้านบาท ลดลง 45,849 ล้านบาท หรือ -3.07% จากสิ้นปี 2562 กองทุนรวมผสมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 384,708 ล้านบาท ลดลง 65,795 ล้านบาท หรือ -14.60%

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 402,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,724 ล้านบาท หรือ 1.96% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 192,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,964 ล้านบาท หรือ 9.06% และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) อยู่ที่ 126,403 ล้านบาท ลดลง 9,312 ล้านบาท หรือ -6.86%

“กองทุนตปท.ลงทุนตราสารหนี้วูบ-หุ้นพุ่งแรง”

กองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 965,922 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 4.22% หรือ 42,511 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 โดยลดลงจากกองทุนตราสารหนี้ ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหลายกลุ่มอุตสาหกรรมผลตอบแทนโดดเด่น

สำหรับเม็ดเงินกองทุน FIF ลงทุนอยู่ในตราสารหนี้สูงสุดมูลค่าสินทรัพย์ 428,608 ล้านบาท ซึ่งลดลง 195,952 ล้านบาท หรือ -31.37% จากสิ้นปี 2562 ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ FIF ลงทุนในหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์ 365,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140,568 ล้านบาท หรือ 62.56%

ขณะที่ FIF ลงทุนผสมมีมูลค่า 128,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,478 ล้านบาท หรือ 2.77% และ FIF ลงทุนอื่นๆ มูลค่า 43,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,395 ล้านบาท หรือ 27.88%

RMF โตต่อเนื่อง SSF ปีแรก 1.95 หมื่นลบ.

ด้านกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 327,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,294 ล้านบาท หรือ 7.65% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 304,306 ล้านบาท

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งประเดิมปีแรก มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 19,487 ล้านบาท ซึ่งเติบโตแรงในช่วงไตรมาส 4/2563 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปิดไตรมาส 3/2563 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพียง 908 ล้านบาท

สำหรับ SSF ลงทุนหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิสูงสุดอยู่ที่ 11,097 ล้านบาท คิดเป็น 56.95% รองลงมา SSF ลงทุนผสมจำนวน 3,524 ล้านบาท สัดส่วน 18.08% SSF ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 3,286 ล้านบาท หรือ 16.86% และ SSF ลงทุนตราสารหนี้ 861 ล้านบาท หรือ 4.42%

“บลจ.กสิกรไทยกอดส่วนแบ่งอันดับหนึ่ง

ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม บลจ.กสิกรไทย ยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสวนทางอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1,111,626 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 22.07% มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 27,964 ล้านบาท หรือ 2.58%

รองลงมาบลจ.ไทยพาณิชย์ 941,830 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.96% มูลค่าสินทรัพย์ลดลง 80,208 ล้านบาท หรือ -7.85% ส่งผลให้สินทรัพย์ลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทจากปี 2562 ที่ยืนเหนือระดับล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก

อันดับสามบลจ.บัวหลวง 752,703 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 14.94% มูลค่าสินทรัพย์ลดลง 9,373 ล้านบาท หรือ -1.23% จากสิ้นปี 2562 อันดับสี่บลจ.กรุงไทย 624,011 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 12.39% ซึ่งส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่ที่ 11.76% แต่ในแง่มูลค่าสินทรัพย์ลดลง 9,797 ล้านบาท หรือ -1.55% ตามทิศทางอุตสาหกรรม และอันดับห้า บลจ.เอ็มเอฟซี 257,487 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 5.11% ลดลง 22,128 ล้านบาท หรือ -7.91% เบียดบลจ.ทหารไทยตกลงไปอยู่อันดับหก มูลค่าสินทรัพย์เหลือ 217,781 ล้านบาท ลดลง 242,909 ล้านบาท หรือ -52.73% จากการปิด 4 กองทุนตราสารหนี้

อย่างไรก็ตามในปี 2563 บลจ.เอไอเอเปิดให้บริการเป็นปีแรกมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร 24,756 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 0.49%

เงินไหลออกกองทุนหุ้นไทย 2.8 หมื่นลบ.

ด้านบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปี 2563 เป็นปีที่มีความผันผวนมากปีหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับกองทุนรวมหุ้นไทย มูลค่ากองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF และ SSFX) ลดลง 22.3% จากสิ้นปี 2562 ไปอยู่ที่ราว 2.3 แสนล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มขึ้น 9.0% จากไตรมาสก่อนหน้า

โดยการลดลงของมูลค่าทรัพย์สินนั้นมาจากทั้งผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมทั้งปีราว -9.5% (SET TR -5.2%) และปริมาณเงินไหลออกสุทธิ ที่พบว่าในไตรมาสสุดท้ายดัชนี SET Index มีการปรับตัวขึ้นกว่า 17% เป็นส่วนให้มีการขายหน่วยลงทุนกองทุนกลุ่มนี้ ทำให้ยังคงมีเงินไหลออกต่อเนื่องอีก 9.8 พันล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยจะพบว่ามีความแตกต่างกับในอดีตที่ในไตรมาสสุดท้ายมักจะเป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ

ในปริมาณเงินไหลออกสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท หากแบ่งกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมเต็มปี 2563 จำนวน 220 กองทุน ออกเป็น 10 กลุ่ม (decile) ตามอัตราผลตอบแทนสะสมรอบปี 2563 โดยกลุ่ม top decile เป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดและ Bottom decile เป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุด พบว่า top decile เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกหรือเกือบ 7% และ bottom decile มีผลตอบแทนเฉลี่ย -18.0% โดยจะเห็นได้ว่าไม่ว่าผลตอบแทนจะเป็นบวกหรือติดลบมากน้อยเพียงใด ทุกกลุ่มล้วนมีปริมาณเงินไหลออกสุทธิ โดยมีแนวโน้มที่ผลตอบแทนแย่กว่าจะมีเงินไหลออกมากกว่า


หากแยกเฉพาะกองทุนเปิดใหม่จะพบว่า แม้กองทุนหุ้นไทยส่วนใหญ่มีเงินไหลออก แต่กองทุนหุ้นไทยที่เปิดใหม่ยังมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิที่สูง รวมมากกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2563 นี้มีกองทุนหุ้นไทยจากบลจ. AIA (AIAIM) เปิดใหม่ 3 กองทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากดูข้อมูลย้อนหลังในหลายปีก่อนหน้าก็จะพบภาพที่คล้ายกันคือ กองทุนหุ้นไทยที่เปิดใหม่ในแต่ละปีมักจะมีเงินไหลเข้าสุทธิที่ชัดเจนหรือโดดเด่นกว่ากองทุนหุ้นไทยที่มีอยู่ในตลาด แม้ว่าบางกองทุนอาจไม่แตกต่างจากกองทุนที่มีอยู่เดิมมากนัก

อ่านข่าว

ส่อง “กองทุน” แห่งปี 63 ผลตอบแทนสูงสุด


ปี 63 กองหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็กชนะบิ๊กแคป “KTMSEQ” แชมป์ 23.92%


กองทุน “หุ้นต่างประเทศ” แจกกำไรอู้ฟู่ ปี 63 ฝ่าวิกฤตโควิด-19