ไทยฟื้นช้าปี 64 เจอแผลเป็นศก.ฉุด “บริษัทซอมบี” เพิ่มพรวดหลังโควิด

HoonSmart.com>>EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเป็นรูปตัว U ปี 64 โต 3.8% จากปีนี้หดตัว -6.5%  คาดนักท่องเที่ยวมาแค่ 8.5 ล้านคน แถมยังมี “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ”กดดัน ทั้งตลาดแรงงานเปราะบาง-การปิดกิจการยังไม่พีค-หนี้ครัวเรือนสูงมาก  จับตา “ธุรกิจซอมบี” ขาดความสามารถทำกำไรจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 63-65 จากวิกฤตโควิด สร้างปัญหาระยะยาว  กำลังซื้อ-การลงทุนต้องพึ่งพาเม็ดเงินรัฐบาล คาดค่าเงินบาทแข็ง 29.5-30.5 บาท ดึงเงินทุนไหลเข้าหุ้น-บอนด์มียอดซื้อสุทธิ 

ยรรยง ไทยเจริญ

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง คาดจะขยายตัว 3.8% ส่งออกขยายตัว 4.7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก +5.4% มาตรการภาครัฐ และวัคซีน ส่วนปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -6.5% ดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -7.8% แม้ว่าไตรมาส 4 จะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก อาจกระทบต่อการส่งออก ขณะที่การระบาดในไทยที่เริ่มมีขึ้นอีกครั้งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศในระยะสั้นได้

ในปีหน้าอุปสงค์ในประเทศยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ซึ่งมาจาก “แผลเป็นเศรษฐกิจ” 3 เรื่องคือ 1.ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานสูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง 2.การเปิด-ปิดกิจการที่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด และ 3.ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้ง 3 เรื่องล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก ทำให้กว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับในปี 2562 อย่างเร็วต้องใช้เวลารอจนถึงปี 2565

“คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะไม่เชื่อมั่นรายได้ในอนาคต ส่งผลให้เงินฝากของนิติบุคคลในปีนี้โต 7% และภาคครัวเรือนโต 9% หากเศรษฐกิจปีหน้าดีขึ้น ก็จะนำเงินฝากออกมาใช้บ้าง”

ส่วนอุปสงค์จากต่างประเทศ แม้มีวัคซีนแต่การผลิตและการแจกจ่ายยังต้องใช้เวลา ทำให้การฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีความแตกต่างกันในหลายมิติ อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตของสินค้าส่งออกในกลุ่ม IT และกลุ่มสุขภาพอนามัย เช่น จีน และกลุ่มเอเชียตะวันออก จะได้รับประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศที่พึ่งพาภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือการใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์  โดย EIC คาดว่าวัคซีนจะนำมาใช้ในไทยได้กลางปีหน้า ส่งผลให้ครึ่งปีหลังนักท่องเที่ยวเข้ามา 8.3 ล้านคน รวมทั้งปีประมาณ 8.5 ล้านคน ดีกว่าปีก่อนที่คาดไว้จำนวน 6.7 ล้านคน แต่ยังต่ำมากเทียบกับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน ส่งผลต่อกำลังซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม

ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่า ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัว  EIC คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย 50 ดอลลาร์/ บาร์เรลในปีหน้าเพิ่มขึ้นจากปีนี้เฉลี่ย 42 ดอลลาร์ ทั้งนี้ไทยจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก

 

นอกจากนี้ ในระยะปานกลาง ต้องจับตาจำนวน Zombie Firm (ธุรกิจที่ขาดความสามารถในการทำกำไรเพื่อชำระดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิดในรอบนี้ คาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563-2565 สัดส่วน 11% 15.5% และ 16% ตามลำดับ เทียบกับ 9.7% ในปี 2562 เพราะธุรกิจปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่สามารถอยู่รอดได้จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้การกระจายทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตภาพในการผลิตและศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมลดลงในระยะยาว โดยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่สุดและใหญ่ที่สุดเป็นหลัก และยังมีแนวโน้มอยู่ในธุรกิจที่ตั้งมานานกว่า 20 ปี จากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมากระจุกอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 14.8% ตามด้วย สิ่งทอ 12.8% โรงแรม 12.5% สินค้าเกษตรและการขนส่งทางอากาศ สัดส่วนเท่ากัน 11.1%

“Zombie Firm เป็นแล้วหายยาก หายแล้วมักกลับไปเป็นอีก  แต่ไม่ยอมออกจากตลาด จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเศรษฐกิจโดยรวม” นายยรรยงกล่าว

สำหรับค่าเงินบาท EIC คาดว่า มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาท/ดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าจะลดลง และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้น คาดโดยรวมเงินลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้จะมียอดซื้อสุทธิ จากปีนี้ขายหุ้นออกกว่า 2 แสนล้านบาท โดยในเดือนพ.ย. มีเงินไหลเข้าทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่ารวดเร็ว จากต้นปีอ่อนมากเกือบที่สุดในภูมิภาคคือ 10% โดยรวมทั้งปียังคงอ่อนค่า-1.2% แต่หากรวมตั้งแต่ต้นปี 2557 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา เงินบาทยังคงแข็งค่าถึง 20% กระทบต่อส่งออกภาคเกษตรมากที่มีมาร์จิ้นต่ำและแข่งขันด้านราคาสูง

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาด ให้อยู่ในระดับต่ำ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ พร้อมปรับเงื่อนไขของมาตรการซอฟท์โลนและการใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย. เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการเพิ่มเติมและปรับกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ

นายยยรยงกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ  คือ 1.การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย 2.แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน 3.ปัญหาเสถียรภาพการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 4.ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ 5.เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ