“แบงก์ชาติ” รับเข้าแทรกแซง “ค่าเงิน”

ผู้ว่าฯธปท. ยอมรับแบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนเร็วเกินไป ห่วงสงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจเอเชีย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงในช่วงที่ผ่านนั้น ยอมรับว่าธปท.ได้เข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดและภาคธุรกิจ

“เป็นนโยบายของเรา เวลาที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เร็วเกินไป ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงขาไหนก็ตาม ทั้งด้านอ่อนและด้านแข็ง ถ้าเร็วเกินไป กระทบการทำงานของตลาด กระทบภาคธุรกิจ เราจะเข้าไปดูแลบางช่วง และจากตัวเลขทุนสำรองที่ลดลงนั้น ก็สะท้อนว่าเราเข้าไปดูแลบางช่วง แต่มีสิ่งที่ต้องระวัง คือ การเปลี่ยนแปลงของมูลค่า เพราะทุนสำรองของเราไม่ได้ถือดอลลาร์อย่างเดียว เราถือหลายสกุล และเราให้ความสำคัญกับการกระจายตัวด้านการลงทุน”นายวิรไทกล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า เวลาดูตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศโดยรวม อาจเห็นว่าทุนสำรองในรูปของเงินเหรียญสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าธปท.เข้าไปซื้อหรือขายทุกครั้ง อาจมีบ้างบางส่วน

“ทุนสำรองฯที่ลดลง เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราได้สะสมทุนสำรองไว้ แต่เวลาที่นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักเขาปรับทิศกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีความกังวลมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ก็อาจจะมีเงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ วันนี้เราจึงนำเงินที่เราสะสมไว้มาเป็นกันชน มาลดแรงปะทะ เพื่อไม่ให้เกิดแรงปะทะกับระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ให้ปะทะกับภาคธุรกิจไทย”นายวิรไทย้ำ

นายวิรไท กล่าวถึงผลกระทบสงครามการค้าที่ขณะนี้มีความตึงเครียดมากขึ้นว่า เป็นเรื่องที่ธปท.ต้องติดตามต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการล่าสุดที่ออกมาจากทางสหรัฐ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อหลายประเทศ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมาย แต่สินค้าของจีนจำนวนไม่น้อยเป็นการนำเข้าจากหลายประเทศในเอเชีย ก่อนที่จีนจะนำสินค้าเหล่านั้นไปผลิตหรือประกอบและส่งออกไปประเทศอื่น

“เป็นความเสี่ยงสำคัญ ไม่เฉพาะเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ยังเป็นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดและพึ่งพิงการค้าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยตรงยังไม่เห็น เพราะมาตรการที่ออกมาก่อนหน้า เลือกเฉพาะสินค้าบางประเภท และสัดส่วนสินค้าค่อนข้างน้อย โดยผลกระทบที่เราต้องติดตาม คือ ผลกระทบที่มาจากห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ซึ่งเราอาจเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย เราจึงต้องติดตามต่อเนื่อง”นายวิรไทกล่าว