ความจริงความคิด : ออมเงินให้ลูก ไม่ง่ายอย่างที่คิด

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ลูกคือสมบัติที่มีค่ามากที่สุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนจึงพยายามให้ของที่มีค่ามากที่สุดกับลูก ซึ่งก็คือ การศึกษา และเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต พ่อแม่จึงมักออมเงินเพื่อลูก ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การซื้อพันธบัตร การซื้อหุ้น การซื้อกองทุน ฯลฯ
ทีนี้ เมื่อซื้อทรัพย์สินการลงทุนให้ลูกแล้ว การลงทุนเหล่านั้นย่อมมีผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ใครจะเป็นคนเสียภาษี
เรื่องนี้ เรามาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันนะ

การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการลงทุนเพื่อผู้เยาว์
บัญชีเงินฝาก
เริ่มจาก”บัญชีเงินฝาก” สิ่งที่เราคุ้นเคย การฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ แบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้
•ลูกอายุยังไม่ครบ 7 ปี จะยังเปิดบัญชีเงินฝากเป็นชื่อตัวเองไม่ได้ ต้องเปิดในลักษณะ นาย/นาง/นางสาว ….(พ่อหรือแม่)….เพื่อ ด.ช./ด.ญ. ….(ลูก)….. หรือ ด.ช./ด.ญ. ….(ลูก)….. โดยนาย/นาง/นางสาว ….(พ่อหรือแม่)…. เป็นต้น การฝากแบบนี้ กรมสรรพากรมีแนววินิจฉัยที่ กค 0702/10466 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีพ่อ แม่ เพื่อบุตรผู้เยาว์ ถือ เป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งพ่อ แม่ หรือผู้แทนโดยชอบธรรม มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีในนามบุตร ตามมาตร 56 และมาตร 57 แห่งประมวลรัษฎากร (แต่ถ้าเป็นบัญชี ระบุ “ชื่อผู้มีเงินได้ เพื่อ….หรือโดย…..” ซึ่งมิใช่ผู้เยาว์ คนที่มีสิทธิฝากถอนเงินได้นั้นเป็นผู้มีเงินได้ที่ต้องนำเงินได้นั้นไปยื่นเสียภาษีในนามของตน เช่น กรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากเพื่อ ก.” ผู้ที่ได้รับเงินได้ดอกเบี้ยคือ ก. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ก. หรือ กรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากโดย ข.” ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยคือ ข. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ข.)

• ลูกอายุครบ 7 ปีและทำบัตรประชาชนแล้ว แต่ยังไม่ถึง 15 ปี สามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์ในชื่อลูกได้ แต่ผู้ปกครองต้องลงนามให้ความยินยอม ดอกเบี้ยถือเป็นของลูก

• ลูกอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองได้ โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองลงนามยินยอม เพราะถือว่าเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ดอกเบี้ยถือเป็นของลูก

• แต่ถ้าเป็นกรณีพ่อและหรือแม่และบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ฝากเงินร่วมกันให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของพ่อหรือของแม่ผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วแต่กรณี หรือเป็นเงินได้ของพ่อในกรณีพ่อแม่ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน (หมายเหตุ พ่อแม่ต้องจดทะเบียนสมรสนะ) ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยถือเป็นของพ่อหรือแม่ พ่อหรือแม่นั้นมีสิทธินำดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีของตนเอง รวมทั้ง มีสิทธินำบุตรผู้เยาว์มาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

สลากออมสิน
ลูกอายุครบ 7 ปีขึ้นไป ก็สามารถซื้อได้และต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และต้องได้รับคำยินยอมจาก คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง ยินยอมลงนามกำกับในเอกสาร เงินรางวัลและดอกเบี้ยถือเป็นของลูก แต่ได้รับยกเว้นภาษีครับ

พันธบัตร
ลูกอายุครบ 7 ปีขึ้นไป ก็สามารถซื้อได้และต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และต้องได้รับคำยินยอมจาก คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง ยินยอมลงนามกำกับในเอกสาร โดยดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ของลูก

หุ้นกู้บริษัทเอกชน
ลูกอายุครบ 7 ปีขึ้นไป ก็สามารถซื้อได้และต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และต้องได้รับคำยินยอมจาก คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง ยินยอมลงนามกำกับในเอกสาร และเมื่อได้รับดอกเบี้ยแล้ว ถือว่าเป็นเงินได้ของลูก

เงินปันผลหุ้นสามัญหรือกองทุนรวม
การซื้อกองทุนรวม หรือ หุ้นสามัญในบริษัท โดยให้บุตรผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับเงินปันผล มาตรา 40 (4) (ข) วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า (กรณีที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะและมีเงินปันผล) จะถือเป็นเงินได้ใครนั้น กฎหมายกำหนดอย่างนี้ ครับ
• ถ้าความเป็นสามีภริยาของพ่อแม่ได้มีตลอดปีภาษี ถือ เงินได้ของลูกเป็นของพ่อ
• ถ้าความเป็นสามีภริยาของพ่อแม่ไม่ได้มีตลอดปีภาษี ถือ เงินได้ของลูกเป็นของพ่อหรือแม่ที่เป็นผู้ดูแลลูก (หากดูแลลูกร่วมกัน เงินได้จะเป็นของพ่อ)
• ดังนั้น เมื่อเงินปันผลถือเป็นของพ่อหรือแม่ พ่อหรือแม่นั้นมีสิทธินำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีของตนเอง รวมทั้ง มีสิทธินำบุตรผู้เยาว์มาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริง ความคิด : ช้อปดีมีคืน ซื้ออะไรถึงใช้สิทธิได้

ความจริงความคิด : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินฝากกับภาษี

คอลัมน์ความจริงความคิด : หนี้สมรส

คอลัมน์ความจริงความคิด : ข้อผิดพลาดในการวางแผนเพื่อเกษียณอายุ

คอลัมน์ความจริง ความคิด : ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถดีป่าว