คอลัมน์ความจริงความคิด : หนี้สมรส

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ข้อมูลในปี 2562 สำนักการบริหารทะเบียน กรมการปกครองพบว่า มีคู่สมรสที่จดทะเบียนแต่งงาน 328,875 คู่ แต่มีคู่สมรสที่จดทะเบียนหย่า 128,514 คู่ มองดูคร่าวๆ ก็ประมาณ 1 ใน 3 เห็นก็กังวลกับความมั่นคงของสถาบันครอบครัว และยิ่งเห็นข่าวของทางจีนที่ว่าช่วง covid หลัง lock down อัตราการหย่าร้างกลับยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้นึกถึงข้อมูลที่เคยอ่านพบว่า

สาเหตุการหย่าร้างของครอบครัวไทย

อันดับ 1 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ
อันดับ 2 คือ ความสามารถของคู่สมรสและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้คู่สมรสต่างคนต่างสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอีกฝ่าย
อันดับ 3 ค่อยเป็น ปัญหามือที่สาม

ข้อมูลปีนี้ยังไม่มีมา เลยไม่ทราบว่าปีนี้ที่เศรษฐกิจแย่มากจากวิกฤติ covid และกระทบครัวเรือนทุกระดับ จะมีอัตราการหย่าร้างที่สูงกว่าปีที่แล้วหรือไม่ แต่จากการพูดคุยกับเพื่อนๆ และคนรอบตัว ยอมรับจริงๆว่า ตอนนี้พบพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวกันมากขึ้น จนแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และคำถามหนึ่งที่มักพบจากการพูดคุยกับพวกพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ก็คือ ภาระหนี้สินที่มีตอนสมรสกัน หย่ากันแล้วยังต้องรับผิดชอบหรือไม่

เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจดทะเบียนสมรส จะเป็นสินสมรส หนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจดทะเบียนสมรส จะเป็นหนี้สมรสเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว นอกจากเรื่องของการจัดการสินสมรสร่วมกัน เรื่องของหนี้สินที่หากสามีหรือภริยาไปก่อให้เกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้ด้วย

อ้าว หลายคนคงร้อง “เฮ้ย เกี่ยวอะไรด้วย” เพราะหากสามีหรือภรรยาตัวดีแอบไปก่อหนี้โดยอีกฝ่ายไม่รู้ ตื่นมาอีกทีเป็นหนี้หัวโต อย่างนี้ไม่น่าจะใช่นะ สบายใจได้ครับ กฎหมายก็คำนึงถึงเรื่องนี้เหมือนกันดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจึงได้ตีกรอบและกำหนดประเภทของหนี้ว่าหนี้แบบไหนเป็นหนี้สมรสที่สามีภริยาที่จดทะเบียนจะต้องรับผิดร่วมกัน แม้ว่าจะมีชื่อคู่สมรสเพียงฝ่ายเดียวในการก่อภาระหนี้มี 4 กรณี ดังนี้

1.หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน การจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว การรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ สังเกตนะครับ หนี้ร่วมทั้ง 5 ประการตามข้อนี้ เน้นบุคคลที่อยู่ในครอบครัว เป็นหลัก และจำนวนหนี้ต้องพอสมควรแก่อัตภาพ ฉะนั้น ไม่ว่าสามีหรือภริยาเป็นผู้ไปก่อขึ้นแม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และหนี้เหล่านี้จะต้องมีจำนวนพอสมควรตามอัตภาพ หมายความว่าหากมีมากเกินไป จะไม่ถือเป็นหนี้ร่วมแต่จะกลายเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้นั้น

2.หนี้ที่เกี่ยวกับสินสมรส เช่น การกู้ยืมเงินมาซ่อมบ้านที่เป็นสินสมรส สมมติสามีกู้เงินธนาคารมาซ่อมบ้าน แต่ตอนหลังเบี้ยวหนี้ ธนาคารสามารถมายึดบ้านที่เป็นสินสมรสได้ แม้ว่าภรรยาจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องก็ตาม แต่ถ้าเป็นกรณีสามีแอบไปกู้เงินซื้อคอนโดให้กิ๊กอยู่โดยที่ภรรยาไม่รู้เรื่อง กรณีนี้ถือเป็นหนี้ส่วนตัวไม่ถือเป็นหนี้ร่วม ภริยาไม่ต้องรับผิดชอบ แต่อย่างว่าแหละครับ หากสินส่วนตัวของสามีไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะสามารถมายึดสินสมรสได้ แต่ยึดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรสครับ

3.หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่สามีและภรรยาทำด้วยกัน เช่น เปิดร้านขายของด้วยกัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในกิจการค้า เช่น ค่าสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า เป็นต้น หนี้ตามข้อนี้อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายสามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้ไปก่อขึ้นก็ได้ ก็ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

4.หนี้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน ถ้าว่ากันตามหลักเบื้องต้นฝ่ายใดไปก่อหนี้ขึ้นโดยลำพังเพื่อประโยชน์ตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ก็น่าจะผูกพันเฉพาะฝ่ายที่ไปก่อให้เกิดหนี้ขึ้น แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันคือยอมรับว่าหนี้นั้นเป็นหนี้ของตนด้วย จึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา เช่น การลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ที่คู่สมรสของตนเป็นผู้กู้ หรือการให้ความยินยอมด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือในการที่คู่สมรสเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ เป็นต้น

เมื่อเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา กฎหมายได้กำหนดว่า ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องสามีภริยาเพื่อบังคับเอากับสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมิได้ลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การครองชีวิตครอบครัว จะต้องระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้สินให้ดี หากอีกฝ่ายไปก่อหนี้ขึ้นมา อาจจะมีผลกระทบถึงคู่สมรสและความสงบสุขของครอบครัวได้ครับ

แล้วถ้าหย่ากันหล่ะ หนี้ร่วมระหว่างสมรสยังต้องรับผิดชอบร่วมกันป่าว หากมีหนี้ระหว่างสมรสร่วมกันอยู่ จะหย่าสามารถหย่าได้ แต่หลังจากหย่าแล้ว ก็ยังต้องใช้หนี้ร่วมกันอยู่ เรื่องหย่าไม่เกี่ยวกับการชำระหนี้ครับ ไม่งั้นอัตราการหย่าร้างคงมากกว่านี้เยอะ

ส่วนหนี้สินเดิมๆที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรสจะยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของใครของมัน ใครก่อหนี้ไว้คนนั้นต้องรับผิดชอบเอง ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาระหว่างสมรส ดังนั้นสบายใจได้นะครับ ถ้าเผลอไปรู้ทีหลังๆจากจดทะเบียนสมรสไปแล้วว่าแฟนเราไม่ได้มาแต่ตัวดันพกหนี้มาด้วย แต่ก็ใช่จะวางใจได้ทีเดียวครับ เพราะหากทรัพย์สินส่วนตัวมีไม่พอสำหรับการชดใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็จะสามารถมายึดสินสมรสได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยึดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรสครับ

ส่วนหนี้สินที่เกิดหลังหย่า ก็ถือเป็นหนี้ส่วนตัวของใครของมันเหมือนกัน ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเองครับ

สรุปง่ายๆ ถ้ารักใครชอบใคร ดูให้ดีมีหนี้เยอะป่าว ถ้ามีหนี้ติดตัวมาเยอะ หรือมีนิสัยชอบก่อหนี้ ก่อนจะจดทะเบียนก็คิดให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนครับ