ความจริง ความคิด : ช้อปดีมีคืน ซื้ออะไรถึงใช้สิทธิได้

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ลุ้นกับใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ใครเชียร์ใคร สมหวังหรือเสียใจก็ต้องทำใจนะ เพราะเราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว (คนที่น่าจะลุ้นมากกว่าเราก็น่าจะเป็นจีนนะ) กลับมาที่บ้านเรา ช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงที่หลายคนเริ่มใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะคนละครึ่งหรือช็อปดีมีคืน เพราะเริ่มโครงการตั้งแต่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา

สิทธิประโยชน์คนละครึ่ง
• ภาครัฐช่วยจ่ายเงิน 50%
• ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน
ไม่เกิน 3,000 ต่อคนตลอดโครงการ

สิทธิประโยชน์ช้อปดีมีคืน
• สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาหักลดหย่อนเงินได้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท ส่วนจะลดหย่อนภาษีได้เท่าไรขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนว่าต้องเสียภาษีขั้นไหน ดังนี้

อย่างที่เคยคุยกันจากอัตราภาษี คนที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 300,000 บาท ถ้าใช้สิทธิเต็มที่ 30,000 บาท จะประหยัดภาษีสูงสุดแค่ 5% เท่านั้น เท่ากับประหยัดภาษี 1,500 บาท เลือกคนละครึ่งจะคุ้มกว่า ส่วนคนที่เงินได้สุทธิ 300,000 – 500,000 บาท จะเลือกคนละครึ่ง หรือ ช็อปดีมีคืน ก็ประหยัดภาษีได้เท่ากัน คือ 3,000 บาท

สำหรับหลายคนที่พลาดสมัครคนละครึ่งไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แค่อย่าใช้สิทธิ รอให้เลย 14 วันหลังเราลงทะเบียนก่อนก็ถือว่าเราสละสิทธิอัตโนมัติ ส่วนคนที่พลาดไม่ได้สมัครคนละครึ่ง ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลเช่นกัน เพราะกระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบสอง ในวันที่ 11 พ.ย. 2563 อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจนว่าจะมีผู้สละสิทธิ์เข้าร่วมโครงการในจำนวนเท่าใด โดยจะต้องรอให้ผู้ลงทะเบียนวันสุดท้ายครบกำหนดที่จะใช้สิทธิภายใน 14 วันหลังลงทะเบียนก่อน ขณะนี้มีผู้ไม่ใช้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งหลังจากครบกำหนด 14 วันที่ต้องใช้จ่ายเงินในโครงการแล้วประมาณ 1 ล้านคน จากทั้งสิ้น 10 ล้านคน และคาดว่าจำนวนผู้ไม่ใช้สิทธิ์น่าจะมีเพิ่มขึ้น จะเป็นเท่าไหร่ รอสรุปยอดวันที่ 10 พ.ย.นี้

ใครที่จะเข้า คนละครึ่ง ก็รอไปลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ที่ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป และรอรับ SMS ยืนยัน โดยจะเริ่มใช้สิทธิ์ใช้จ่ายได้จนถึง 31 ธ.ค. 2563 และจะถูกตัดสิทธิทันทีหากไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือ วันที่เริ่มเปิดให้ใช้จ่ายตามโครงการ

ส่วนใครจะใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนก็ไม่ต้องทำอะไร แค่ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ไม่เป็นผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง ก็ใช้สิทธิได้ง่ายๆ แค่ซื้อสินค้าและบริการ ดังต่อไปนี้ ก็ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท โดย

• ต้องซื้อสินค้า หรือใช้บริการจากร้านที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้เท่านั้น ยกเว้นการซื้อหนังสือ, e-Book หรือสินค้าโอทอปที่ใช้ใบเสร็จรับเงินได้

• สินค้าและบริการที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

• ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการนั้น ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

หลักฐานที่ใช้

• สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะใช้สิทธิต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วย (ใบกำกับภาษีอย่างย่อใช้ไม่ได้นะ)

• หนังสือ (รวมถึง e-book) ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ขายต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น (เจ้าของร้านหนังสือที่เป็นบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนไม่ได้) โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อ-นามสกุลของผู้ซื้อก็ได้

• สินค้า OTOP จะลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว (ตรวจสอบได้ที่ www.otoptoday.com) โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อ-นามสกุลของผู้ซื้อ หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงิน ต้องมีเครื่องหมายหรือข้อความที่ระบุว่าเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น “OTOP”, “โอทอป” หรือ “One Tambon One Product” หรือหากไม่มีข้อความ ผู้ขายอาจประทับตรายางที่มีชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าแล้วระบุข้อความว่า “สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันในใบกำกับภาษี

สินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”

สินค้าที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การขายพืชผลทางการเกษตร การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่ชีวิต การขายปุ๋ย การขายปลาป่น อาหารสัตว์ การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ฯลฯ (ตามมาตรา 81 ประมวลรัษฎากร)
และสินค้าที่ประกาศยกเว้นบางรายการ ดังนี้
• ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
• ค่าซึ้อยาสูบ
• ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
• ค่าซื้อรถยนต์ รถจักยานยนต์ และเรือ
• ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
• ค่าบริการหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
• ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจและมัคคุเทศก์
• ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฏหมายว่าโรงแรม

สินค้าที่เราใช้กันบ่อยๆ อะไรบ้างที่ซื้อแล้วลดหย่อนภาษีได้

สรุปง่ายๆสินค้าที่เสีย VAT อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แต่งบ้าน ซ่อมบ้าน ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์และกองทุนรวม ฯลฯ
ส่วนสินค้าที่ไม่ต้องเสีย VAT ไม่สามารถเอาไปลดหย่อนได้ อย่างเช่น
• ทอง
• สินค้าทางการเกษตรที่ยังไม่แปรรูป อย่างเช่น ข้าวสาร ผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ ไข่ นม ฯลฯ
• อาหารสัตว์
• เปลี่ยนยางรถยนต์ เข้าศูนย์เช็คระยะ ซ่อมรถ
• การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล เช่น ทันตกรรม ทำเลสิก ทำศัลยกรรม เข้าคอร์สเสริมความงาม ตรวจสุขภาพ ฯลฯ
• บัตรของขวัญ

ส่วนค่าซื้อสินค้าและบริการที่ซื้อแล้วแต่การใช้ไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 31 ธ.ค. 2563 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ อย่างเช่น เบี้ยประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือ อย่างซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการต่าง ๆ ถ้าซื้อบัตรและนำไปใช้บริการช่วงวันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ แต่ถ้าซื้อบัตรไว้ก่อน แล้วนำไปใช้บริการในปี 2564 ด้วย จะใช้สิทธิ์ไม่ได้ หรืออย่าง ค่าสมาชิกรายปี อย่างเช่น ค่าสมาชิกฟิตเนสรายปี ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากมีระยะเวลาให้บริการนอกเหนือจากช่วงวันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563