Q3/63 เงินไหลเข้ากองตปท. 6.6 หมื่นลบ. ซบหุ้นจีน-ทั่วโลก ชูกองเทคฯ กำไรโดดเด่น

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยไตรมาส 3/63 เงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศ 6.6 หมื่นล้านบาท ทะลักเข้า “หุ้นจีน-หุ้นโลก” นำโด่ง ส่วนกองทุนหุ้นไทย เงินไหลออกเฉียด 1 หมื่นล้านบาท ตลาดขาดปัจจัยหนุน ภาพรวมอุตฯ กองทุนรวมเงินไหลเข้าสุทธิ 7.8 พันล้านบาท ส่วน 9 เดือนยังไหลออกสุทธิ 3.4 แสนล้านบาท หลังบลจ.ทหารไทยปิด 4 กองทุนตราสารหนี้ ประเมินไตรมาส 4 ยังเหนื่อย หมดกอง LTF ปีแรก ไร้เงินประคองหุ้นปลายปี ด้านผลตอบแทนไตรมาส 3/63 กองทุนหุ้นเทคโนโลยีโดดเด่น หนุน 9 เดือนผลตอบแทนสูงสุด 29%

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมไตรมาส 3/2563 สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ยังกดดันการลงทุนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศยังดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงิน ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อาจมีเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนไปยังตลาดหุ้นหลายประเทศปรับตัวขึ้นมา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังขาดแรงสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ ทำให้ SET Index ในไตรมาส 3/63 ปรับตัวลงต่ำกว่า 1,300 จุดอีกครั้งและไปปิดที่ 1,237.04 จุด (SET TR -19.3%) จึงเห็นเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นไทย 9.9 พันล้านบาท


 
 
เงินทะลักเข้าหุ้นจีน-หุ้นทั่วโลก

“ภาพรวมในไตรมาส 3/2563 เงินลงทุนไหลเข้า-ออกมีทิศทางเปลี่ยนไป โดยมีเงินไหลเข้ากลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้นชัดเจน โดยกองทุนรวมตราสารทุนเป็นเพียงประเภทเดียวมีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.8 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก แตกต่างจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีเงินไหลเข้าตราสารเสี่ยงต่ำมากอย่างตราสารตลาดเงินที่สูงถึง 7 หมื่นล้านบาท”น.ส.ชญานี กล่าว

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.6 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนกลุ่ม China Equity และ Global Equity ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการส่งออกที่มีการเติบโตจากไตรมาสที่ 2 รวมทั้งภาคการผลิตที่แสดงแนวโน้มการเติบโต โดยกลุ่มกองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนเปิดใหม่ราว 5.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นจีน 3.6 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันกลุ่ม Global Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเม็ดเงินจากกองทุน TMB EASTSPRING Global Capital Growth และ Thanachart Eastspring Global Capital Growth ที่เปิดใหม่ในไตรมาสล่าสุดรวม 8.8 พันล้านบาท และมีการลงทุนไปที่ Master fund กองเดียวกันคือ Amundi Funds Polen Capital Global Growth

กลุ่ม Global Bond ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินไหลออกในช่วงเดือนมี.ค.นี้ เมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ไทยพบว่ามีทิศทางการฟื้นตัวที่เร็วกว่า เห็นได้จากเม็ดเงินที่เริ่มกลับเข้าลงทุนมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ต่อเนื่องมาจนไตรมาส 3/2563 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.8 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนไปจนถึง ETF ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ ทำให้กองทุนรวมในสหรัฐฯ เริ่มเห็นเม็ดเงินกลับเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.เป็นต้นมา

ขณะที่กองทุน Money Market เริ่มมีเงินไหลออกในไตรมาส 3/2563 จาก 9 เดือนเงินไหลเข้าสูงถึง 1.73 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้หลังเกิดแพนิคในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และเงินดังกล่าวยังพักเงินเพื่อรอลงทุน เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ค่อยดี ขณะที่ดอกเบี้ยต่ำ

กองทุน Global Technology ยังคงเป็นกลุ่มกองทุนเด่นในปีนี้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.0% จากปี 2562 เพิ่มขึ้น 32.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 5.1 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/2563 ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นเทคโนโลยียังสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยที่ 41.2%

กลุ่ม Property Indirect – Flexible ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศขนาดใหญ่สุด มีเงินไหลออกสุทธิ 3.1 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 3 รวม 9 เดือนเงินไหลออกสุทธิ 7.9 พันล้านบาท

ราคาทองคำในช่วงเดือนก.ย.เคลื่อนไหวแบบทรงตัวและปรับตัวลงเล็กน้อย ทำให้กลุ่มกองทุนทองคำ (Commodities Precious Metals) เริ่มมีทิศทางเงินไหลเข้าราว 5 ร้อยกว่าล้านบาทหลังจากมีเงินไหลออกติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยมีเงินไหลออกสุทธิไตรมาสล่าสุด -1.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิ 7.5 พันล้านบาท

ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) อยู่ที่ 7.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากปี 2562 จากเม็ดเงินไหลเข้า รวมทั้งราคาหุ้นตลาดต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น


ด้านกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF และ SSFX) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.1 แสนล้านบาท ลดลง 28.7% จากสิ้นปี 2562 และลดลง 13.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาส 3/2563 มีเงินไหลออกสุทธิ 9.9 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท

 
 
เงินไหลเข้ากองทุน Q3/63 กว่า 7.8 พันลบ.-9 เดือนออก 3.4 แสนลบ.

อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในไตรมาส 3/2563 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.8 พันล้านบาท รวม 9 เดือนยังเงินไหลออกสุทธิ 3.4 แสนล้านบาท จากการปิด 4 กองทุนตราสารหนี้ของบลจ.ทหารไทยมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1/2563 ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย 9 ดือนปี 2563 อยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท ลดลง 11.6% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท จากปัจจัยหลักการแพร่ระบาด COVID-19 เงินไหลออกจากอุตสาหกรรมหลังเกิดแพนิคขายกองทุนตราสารหนี้จนบลจ.ทหารไทยต้องปิดกองทุน


สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/2564 มองอุตสาหกรรมกองทุนรวมยังเหนื่อยและคาดว่าปีนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิจะติดลบสูงสุดเมื่อเทียบช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปีนี้เป็นปีแรกที่จะไม่มีเงินไหลเข้ากองทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)ในช่วงท้ายปี ซึ่งโดยปกติจะช่วยหนุนดัชนีในช่วงท้ายปี ทำให้มีเงินเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นไทยประเภทนี้ ในขณะที่ปีนี้มีกองทุน SSF ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงแค่หุ้นไทยเพียงอย่างเดียว จึงอาจทำให้แรงเข้าซื้อกองทุนหุ้นไทยต่ำกว่าในอดีต

 
 
กองทุนหุ้นเทคฯ ผลตอบแทนดีต่อเนื่องหนุนแชมป์ 1 ปีกว่า 41%

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมไตรมาส 3/2563 ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะชะลอตัวกว่าไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มกองทุนทองคำยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดี ขณะที่กองทุนผสม ตราสารทุน หรือตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ขณะที่กองทุนหุ้นเทคโนโลยี ยังเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อเนื่องและเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในช่วง 9 เดือนแรก 28.8% และสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 41.2%

กองทุนกลุ่ม Global Health Care เป็นอีกกลุ่มที่อาจได้รับกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ในเชิงบวกจากความคืบหน้าการผลิตวัคซีนที่แม้ว่าอาจไม่สร้างผลกำไรให้อุตสาหกรรมนี้มากนัก แต่ก็ยังช่วยให้ส่งเสริมในแง่ของ goodwill ของบริษัทผู้ผลิตยา ด้านการเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้นอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการสวัสดิการสุขภาพมากนัก ทำให้หุ้นกลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมหรือการบริโภคอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผลตอบแทนเฉลี่ยในรอบ 1 ปีอยู่ที่ 28.8% หรือเป็นรองเพียงหุ้นกลุ่ม Technology

ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกอาจมีการปรับตัวลงมาบ้างในไตรมาสล่าสุด แต่กองทุนทองคำ (Commodities Precious Metals) ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 6.7% ทำให้ยังเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูงติดอันดับในรอบ 1 ปี ที่ 25.9% ด้านกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy) แม้จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกในไตรมาสล่าสุดที่ 2.8% แต่ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

กองทุนกลุ่ม Global Bond มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือน 2.3% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.1% ทำให้มีผลตอบแทนกลับมาเป็นบวกจากที่ติดลบในช่วงครึ่งปีแรก ในภาพรวมกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศจะยังดูดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ไทยที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่าจากนโยบายภาครัฐที่ต่างกันในการเข้าพยุงตลาดตราสารหนี้

กองทุนกลุ่ม Property Indirect มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 7.3% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากผลตอบแทนของกองทุน Property Fund และกองทรัสต์หลายกองทุนปรับตัวลง ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 9 เดือน -20.1%


 
 
กองหุ้นไทยผลตอบแทนทรุดต่อเนื่อง 1 ปีติดลบ 24%

ส่วนตลาดหุ้นไทยที่ถือว่าแย่กว่าหลายประเทศทำให้กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ มีผลตอบแทนที่อยู่อันดับเกือบท้าย โดยรอบ 1 ปีมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง 23.6% จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ราว -14% และไตรมาส 3/2563 ติดลบเพิ่มอีกเกือบ 8% ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 9 เดือนอยู่ที่ -21.3% ในขณะที่กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap) มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดูดีกว่าโดย 3 เดือนล่าสุดเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.1% รวมผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 9 เดือน ยังติดลบอยู่ -8.4% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหุ้นขนาดกลาง-เล็กและดัชนี mai ที่มีผลตอบแทนดีกว่าดัชนี SET Index (SET mai TR 5.5%)
 
 
 
 
บทความเกี่ยวข้อง

ส่องผลตอบแทน ‘กองทุนหุ้นเทคโนโลยี’ 9 เดือน ปี 63 สูงสุด 47%