สินเชื่ออสังหาฯ ส่อลด SIRI หนีดอกเบี้ยลอยตัว

“แสนสิริ” เล็งขายหุ้นกู้มากขึ้น ลดการใช้สินเชื่อแบงก์ที่คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว บริษัทลูก NWR และ JSP กู้เงินจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยอมจ่ายดอกเบี้ย 7% “เอเซียพลัส” เตือนดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบอสังหาฯ มากสุดโดยเฉพาะบริษัทขายคอนโดฯ แนะนำหุ้น LH, QH และ SPALI

นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างทางการเงิน โดยเตรียมออกหุ้นกู้ชุดใหม่วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบอายุในเดือนส.ค.มูลค่า 2,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างพิจารณาการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพิ่มตามความเหมาะสม เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์น้อยลง เนื่องจากคิดดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ปัจจุบันบริษัทยังมีตั๋วแลกเงิน(บี/อี) อยู่ 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ออกเพื่อบริหารต้นทุน และสามารถขายได้อยู่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทมีเรทติ้ง

ปัจจุบันบริษัทฯยังสามารถออกหุ้นกู้ได้อีก 1 หมื่นล้านบาทจากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 3 หมื่นล้านบาท และใช้ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

“เราใช้สินเชื่อจากธนาคารหลัก 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงไทย แต่ละธนาคารให้เรทที่ดีมาก แต่ก่อนคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (MRR)ลบ 1.5 % ตอนนี้มาอยู่ที่ลบ 2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ก็ลดลงมามากเช่นเดียวกัน ก่อนหน้า อายุ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ย 4.8-4.9% ต่อปี ตอนนี้ออกประเภท 3 ปี ดอกเบี้ยลงมาเหลือ 3.2% ทำให้ต้นทุนการเงินลดลงมาเรื่อยๆ 4-5 ปีที่ผ่านมา เหลือเฉลี่ยประมาณ 3.65-3.7% “นายวันจักร์กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยประกาศอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.12% ณ วันที่ 17 พ.ค. 2561 กรณีลบ 2 ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.12%

นายวันจักร์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าในประเทศมากกว่า 1 แสนคน แต่หากนับรวมถึงคนที่เข้ามาดูโครงการจะมีมากกว่านั้น ส่วนต่างประเทศมีเป็นหลักหมื่นคน เนื่องจากเพิ่งเริ่มออกไปทำการตลาดประมาณ 4-5 ปี ลูกค้ามีการโอนบ้านได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะต่างชาติ ที่ให้ความสนใจโครงการในต่างจังหวัดด้วย เช่น ภูเก็ต พัทยา

บริษัท ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ SIRI ที่ระดับ “BBB+”รวมถึงชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทที่ระดับ “BBB+” ด้วยเช่นกัน

สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังคงมีเพียงพอ ณ เดือนมี.ค. 2561 บริษัทมีเงินสดจำนวน 2,659 ล้านบาทและมีวงเงินกู้โครงการจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขอีกประมาณ 53,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนจำนวน 21,783 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท เงินกู้โครงการ 4,165 ล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวสำหรับซื้อที่ดิน 3,754 ล้านบาท รวมถึงตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นอีก 10,865 ล้านบาท

บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ส่วนเงินกู้โครงการนั้นจะจ่ายชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากการโอนโครงการ ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวสำหรับซื้อที่ดินจะแปลงไปเป็นเงินกู้ระยะยาวของโครงการในภายหลัง ในขณะที่ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจะต่ออายุออกไปหรือจ่ายชำระคืนภายใน 3-6 เดือน โดยปกติบริษัทมักใช้ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะคงเงินกู้โครงการที่ยังไม่ได้เบิกใช้ไว้ในจำนวนที่เพียงพอกับยอดคงเหลือของตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการต่ออายุ

ทางด้านบริษัทจดทะเบียน ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการกู้เงินจากบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท มานะ พัฒนาการ ที่มีบริษัท เนาวรัตน์ พัฒนาการ (NWR)เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ขอวงเงินกู้จำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท เค อัลลายแอนซ์ จำกัด จำนวน 12 ล้านบาท และนางสุทัศนีย์ กรรณสูต จำนวน 8 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และ 7% ต่อปี ตามลำดับ กำหนดระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 2 ปี

ก่อนหน้า บริษัท เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ (JSP) ได้กู้เงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายพงศ์ศักดิ์ สวาทยานนท์และ/หรือ นายบุญยง สวาทยานนท์ และหรือผู้เกี่ยวข้อง วงเงินกู้ 150 ล้านบาท (หมุนเวียน) อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี รวมภาระดอกเบี้ย 10.50 ล้านบาท กำหนดจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบ 1 ปี โดยมีหลักประกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทั้งที่มีอยู่ในขณะนี้และหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าจำนวน 53 คูหา

คณะกรรมการบริษัท JSP เห็นควรให้กู้เงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และการรับความช่วยเหลือทางการเงินครั้งนี้ เสียอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับสถาบันการเงินที่บริษัทฯเคยได้รับ ขณะที่มีระยะเวลาและเงื่อนไขในการเบิกใช้เงินกู้ดีกว่าสถาบันการเงิน

บล.เอเซียพลัส คาดดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะมีผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีฐานธุรกิจหลักคอนโดมิเนียม เพราะเป็นสินค้าที่มีแรงซื้อจากกลุ่มซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรแทรกอยู่ประมาณ 20-25% ทำให้มีความอ่อนไหวต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง สำหรับกลุ่มแนวราบ(บ้านเดี่ยวและทาวเฮ้าส์)ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ในเชิงกลยุทธ์จึงแนะนำให้เลือกหุ้นที่มีสัดส่วนคอนโดมิเนียมไม่สูง และจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง อย่าง LH, QH และ SPALI