บล.กสิกรฯ ให้แนวรับ 1,250 และ1,240 รอข่าวดี

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์ถัดไปไกลสุดไม่เกิน 1,300 จุด ติดตามผลประชุมเฟด-บีโอเจ การเมือง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยให้กรอบเคลื่อนไหว 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (14-18 ก.ย.2563) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวรับที่ 1,250 และ 1,240 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,285 และ 1,300 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (15-16 ก.ย.) ประเด็นการเมือง การพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การเริ่มต้นสร้างบ้าน รวมถึงดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน

หุ้นปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,279.96 จุด ลดลง 2.44% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,802.06 ล้านบาท ลดลง 8.87% ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.85% ปิดที่ 307.15 จุด

หุ้นร่วงลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ท่ามกลางความกังวลต่อปัจจัยลบต่างๆ อาทิ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน การระงับทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของผู้ผลิตยารายใหญ่ ความเสี่ยงเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit) รวมถึงสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ขณะที่ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงหนักในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้างและพลังงาน

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (14-18 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาททรงตัวในกรอบแคบ โดยทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังไม่ผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม ประกอบกับมีปัจจัยลบจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด

อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยทางการเมือง

ในวันศุกร์ (11 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.34 เทียบกับระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (3 ก.ย.)