ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองนโยบายทนเงินเฟ้อ FED สร้างความผันผวนตลาดเงินในอนาคต

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองนโยบายทนเงินเฟ้อของเฟด หนุนตลาดทุนสหรัฐฯ ร้อนแรง แต่อาจสร้างความผันผวนแก่ตลาดการเงินในอนาคตเมื่อเงินเฟ้อกลับมา

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวนโยบายทนเงินเฟ้อของเฟด แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดเงินตลาดทุนต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน แต่ก็อาจจะนำมาสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและความผันผวนของตลาดในอนาคต เมื่อตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะต้องถอยออกจากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ เงินบาทที่อาจจะได้รับแรงหนุนจากดอกเบี้ยที่ต่ำของเฟดยังอาจสร้างความท้าทายแก่การดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทย รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ นายเจโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ออกมาประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุม Jackson Hole ครั้งล่าสุด (27 สิงหาคม 2563) โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติการปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Flexible Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและอัตราว่างงานเริ่มปรับลดลง เฟดจะไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไปอีกสักพักจนกว่าเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานจะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่

การปรับกรอบนโยบายการเงินดังกล่าวส่งผลให้ตลาดทุนของสหรัฐฯ นั้นกลับมาร้อนแรง ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่าเฟดจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพคล่องที่เข้าสู่ระบบนั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ตลาดทุนเป็นหลัก ขณะที่ภาคตลาดจริง (real sector) อาจไม่ได้รับผลประโยชน์จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเผชิญความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า หากเฟดต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อคงดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอย่างต่อเนื่อง อาจกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นในอนาคต และส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในท้ายที่สุด ซึ่งการเข้าสู่การถอนมาตรการกระตุ้น (exit strategy) ของเฟดอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยหากพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วในช่วงปลายปี 2558 หลังจากเฟดคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ถึงเกือบ 10 ปี จะเห็นว่าหลังจากที่เฟดมีการส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย ตลาดทุนก็ปรับตัวลดลงและผันผวนอย่างมาก ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ก็อาจส่งผลให้เกิดการ selloff ครั้งใหญ่ และความผันผวนในตลาดทุนไม่ต่างจากในรอบที่แล้ว

สำหรับผลกระทบของนโยบายดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทย คงมีผลในด้านค่าเงินบาทเป็นหลัก เนื่องจากการเปิดช่องให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น จะยิ่งส่งผลให้ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจสร้างความท้าทายแก่การดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทย รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า