ดาวโจนส์ปิดบวก 30 จุด ค้าปลีกต่ำกว่าคาด

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 30 จุด ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ต่ำกว่าคาด ตอกย้ำความกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ยังไม่คืบหน้า ตลาดหุ้นยุโรปร่วงยกแผง ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดตลาดวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ 27,931.02 จุด เพิ่มขึ้น 34.30 จุด หรือ +0.12% หลังจากตลอดทั้งวันแทบไม่ขยับ ด้วยยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาดตอกย้ำความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัวโควิด-19

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,372.85 จุด ลดลง 0.58 จุด, +0.02%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,019.30 จุด ลดลง 23.20 จุด, -0.21%

ในสัปดาห์นี้ดัชนี DJIA บวก 1.8% ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.6% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.1%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผย ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.2% ต่ำกว่า 2% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และต่ำกว่าที่เพิ่มขึ้น 8.4% ในเดือนมิถุนายน แม้จะเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่สาม แต่หากหักรถยนต์และน้ำมันออก ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 1.5%

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ไม่มีความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างพรรคเดโมแครตและทำเนียบขาวในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำกัดการปรับตัวขึ้นของตลาด แม้มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานและยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากความกังวลว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้เงินที่ได้จากรัฐบาลมีความสำคัญและเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจและของตลาดหากไม่มีมาตรการ

นักวิเคราะห์ยังคาดว่าคงจะไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 กันยายน

นอกจากนี้ยอดค้าปลีกบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ตอกย้ำความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว และสะท้อนว่าผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้นท่ามกลางการระบาดรอบสองและการที่ไม่มีความคืบหน้าของมาตรการ

ตลาดอ่อนตัวลงในท้ายตลาดจากรายงานว่าสหรัฐฯกับจีนเลื่อนการประชุมออนไลน์เพื่อทบทวนข้อตกลงการค้าระยะแรกออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากที่กำหนดไว้ในวันเสาร์นี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ผลิตภาพไตรมาสสองเพิ่มขึ้น 7.3% ต้นทุนแรงงานต่อหนึ่งหน่วยการผลิตเพิ่มขึ้น 12.2% ซึ่งสูงกว่า 1.4% และ 8.7% ที่นักวิเคราะห์คาดตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 3% สูงกว่า 2.7% ที่คาด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาที่ 70.6% จาก 68.5% เดือนมิถุนายน และสูงกว่า 70.5% ที่คาด

มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 72.8 สูงกว่า 72.0 ที่นักวิเคราะห์และสูงกว่า 72.5 ในเดือนกรกฎาคม

สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิถุนายน ลดลง 1.1% จากที่ลดลง 2.3% ในเดือนพฤษภาคม

หุ้นฮิลตันเวิล์ดวายด์โฮลดิ้งส์เพิ่มขึ้น 0.58% หุ้นแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนลลดลง 0.50% หลังนักวิเคราะห์ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายและคำแนะนำลงทุน

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการลดลง 2.3% นักลงทุนเกาะติดสถานการณ์การระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ด้วยความวิตก หลังจากมีคำสั่งจำกัดการเดินทางรอบใหม่ และอังกฤษสั่งกักตัวคนที่เดินทางเข้าจากฝรั่งเศสเป็นเวลา 14 วัน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิติสหภาพยูโรปเผย จีดีพีไตรมาสสองหดตัว 12.1% และการจ้างงานต่ำสุดเป็นประวัติการร์ แต่ดุลการค้าเกินดุล 21.2 พันล้านยูโร จากการนำเข้าที่ลดลง

นอกจากนี้ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมของจีนที่ลดลง 1.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนยังส่วนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวยังเปราะบาง ทั้งนี้จีนเป็นประเทศแรกที่เจอการระบาดและควบคุมไวรัสได้เป็นรายแรก จึงเป็นความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 368.07 จุด ลดลง 4.46 จุด , -1.20%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,090.04 จุด ลดลง 95.58 จุด, -1.55%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,962.93 จุด ลดลง 79.45 จุด, -1.58%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,901.34 จุด ลดลง 92.37 จุด, -0.71%

หุ้นกลุ่มเดินทางลดลง โดยหุ้นอีซีเจ็ตและหุ้น Tui ลดลง 7% และ 8% ตามลำดับ หุ้นไอเอจี บริษัทแม่จองบริติชแอร์เวย์ลดลง 5%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 23 เซนต์ปิดที่ 42.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 16 เซนต์ปิดที่ 44.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อ่านข่าว

หุ้นหลุด 1,300 จุดหรือไม่ รอลุ้น GDP ไตรมาส 2/63