ทริสเพิ่มเครดิต ดีบีเอสวิคเคอร์ส-ประเทศไทย

“ทริสเรทติ้ง” ปรับเพิ่มอันดับเครดิต “บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” แตะ AAA จากเดิมอยู่ที่ AA- แนวโน้มเครดิต “คงที่”

บริษัททริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เป็นระดับ “AAA” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนฐานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มดีบีเอส ที่มีฐานธุรกิจอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนระบบการดำเนินงานที่รวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดีบีเอส และการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่มีมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ธนาคารดีบีเอส ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพียงรายเดียวของกลุ่มดีบีเอสยังได้รับอันดับเครดิตจาก S&P Global Ratings ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “คงที่” อีกด้วย

อันดับเครดิตเฉพาะของ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เป็นผลมาจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ดีขึ้น ตลอดจนการได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และด้านเครดิตที่จำกัด และการมีสภาพคล่องและฐานทุนที่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมและรายได้ที่มีความผันผวน เนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงและจากธรรมชาติของธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลงด้วย

บริษัทยังให้บริการด้านงานวิจัย รวมทั้งให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจอื่น ๆ แก่ลูกค้าในเครือข่ายของกลุ่มดีบีเอสด้วย บริษัทมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำปีจากลูกค้าของกลุ่มดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70.0% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

บริษัทมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ มีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมเท่ากับ 15.7% เมื่อสิ้นปี 2560 ซึ่งถือว่าเพียงพอถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 33.9% ก็ตาม บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากบริษัทแม่และสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่ง ถือว่ามีเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,046 ล้านบาทซึ่งเป็นฐานทุนที่เพียงพอ รองรับความเสี่ยงทางด้านเครดิตจากธุรกิจเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์

บริษัทฯมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.6% ในปี 2558 (อันดับ 20) มาอยู่ที่ 4.2% ในปี 2559 (อันดับ 6) และมาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2560 (อันดับ 2) ณ เดือนเม.ย. 2561 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 6.6% เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งบริษัทมีความแข็งแกร่งมากที่สุด ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6.0% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 11.5% ในปี 2559 และมาอยู่ที่ 16.9% ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าธรรมเนียมในระดับต่ำที่ได้จากนักลงทุนต่างประเทศทำให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบในทางบวกต่อส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายของบริษัทในอัตราที่เท่ากัน ทั้งนี้ ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้า โดยเพิ่มจาก 1.7% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 2.0% ในปี 2559 และมาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2560 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access (DMA) ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมต่ำกว่าที่ซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด