HoonSmart.com>>”ซีเค พาวเวอร์” ตอกย้ำความยั่งยืน ใกล้สรุปผลเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว แห่งใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตอีก 60% หนุนเป้าหมายปี 68 ถึง 5,000 MW เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สภาพคล่อง ต้นทุนการเงินลดลง ผู้ถือหุ้นอนุมัติขยายวงเงินออกหุ้นกู้จาก 1 หมื่นล้านบาทเป็น 2 หมื่นล้านบาท ปีนี้ขาย 3,000 ล้านบาทรองรับใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังเติบโต ปริมาณน้ำเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ผู้ถือหุ้นอนุมัติทุกวาระ โดยขยายวงเงินในการออกและเสนอขายหุ้นกู้จาก 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) กล่าวว่า บริษัทอยู่ในช่วงกำลังเติบโต โดยโครงการแห่งใหม่ในสปป.ลาว คาดว่าจะสรุปการเจรจาให้เสร็จภายในปีนี้และคงใช้เวลาในการก่อสร้างอย่างน้อย 8 ปี
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทหลายแห่งมีการซื้อโรงไฟฟ้าหรือขยายการลงทุนไปในหลายประเทศเพื่อนบ้าน นายทนงกล่าวว่า CKP ยังคงมีนโยบายลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้ความรู้และความสามารถที่แท้จริงของกลุ่ม ที่บริษัทอื่นเข้ามาทำไม่ได้ง่าย บริษัทคงไม่ประโจนเข้าไปร่วมทุน หรือซื้อโรงไฟฟ้า หากพิจารณาแล้วไม่เหมาะสม หรือมีขนาดเล็กเกินไป
” เราพยายามนำหน้าคนอื่น โดยใช้เทคโนโลยี และพิจารณาถึงความเสี่ยง มีหลายโครงการที่ไม่ไปลงทุน เช่นในเวียดนาม เมียนมา ขอให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าทำแล้วทำได้ดี ก้าวเดินอย่างมั่นคง เป็นหัวใจสำคัญ” นายทนงกล่าว
ด้านนายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ กล่าวว่า โครงการใหม่ในสปป.ลาวขนาด 1,000-1,500 เมกะวัตต์(MW) เพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 60% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,167 MW โดยจะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการโรงไฟฟ้า พลังน้ำไซยะบุรี ที่ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท ส่วนรายละเอียดของโครงสร้างผู้ร่วมทุนยังไม่ได้สรุป
นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โคเจน) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์ม ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตปีละ 5-10 เมกะวัตต์ โดยปีนี้จะลงทุนโซลาร์ รูฟท็อป ร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า ขณะเดียวกันยังมองหาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งอื่นใน สปป.ลาวและในเมียนมาด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิต 5,000 MW ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 939 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตรวม 2,167 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังคงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก
ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุน 4,000-4,500 ล้านบาท ขายหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเครื่อง เน้นเรื่องสภาพคล่อง ลดต้นทุนทางการเงิน หลังจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 มีการออกหุ้นกู้ ชำระหนี้ ก็สามารถลดต้นทุนทางการเงินจาก 3.49% และมีความสามารถในการชำระหนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) อยู่ที่ 0.80% หากคิดเฉพาะหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย D/E ลดลงเหลือ 0.62 เท่า แนวโน้มในอีก 2-3 ปี โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ก็จะออกหุ้นกู้เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ต้นทุนทางการเงินก็จะลดลง ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน(ROA) ก็ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ ในไตรมาส 2 ยังได้รับผลกระทบจากน้ำแล้งในปีก่อน ตอนนี้ปริมาณน้้ำไหลกลับเข้ามาใกล้สู่ค่าเฉลี่ยแล้ว และมีพายุเข้ามาหลายลูก แนวโน้มไตรมาส 3 มีฝนตกมาก มีความสามารถในการผลิตสูงสุดของปี และไตรมาส 4 ยังดีต่อเนื่อง โครงการน้ำงึม 2 ก็กลับมาผลิตตามปกติแล้ว บริษัทเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต หลังจากน้ำที่เคยแล้ง ในเดือนต.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปีนี้คงไม่แล้งเหมือนปี 62 คาดว่าครึ่งปีหลังจะเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตทั้งสองแห่ง
ส่วนโควิด-19 ที่แพร่ระบาด บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกฟผ.รับซื้อไฟทั้งหมดที่ผลิตได้ ส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟจากพลังงานความร้อนร่วม ก็ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านราคาหุ้น CKP วันที่ 3 ส.ค. ปรับตัวขึ้นแรง ปิดที่ 5.55 บาท+0.50 +9.90 ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 307 ล้านบาท รับข่าวดีโครงการใหม่ และแนวโน้มกำไรในครึ่งปีหลัง