เศรษฐกิจดิ่ง -12.5% ไตรมาส 2/63 มิ.ย.ดีขึ้น ส่งออก-เอกชนฟื้น

HoonSmart.com>>ธปท.ระบุเศรษฐกิจต่ำสุดไตรมาส 2  ส่วนเดือนมิ.ย.เริ่มดีขึ้น ส่งออกไม่รวมทองคำลดน้อยลง หลังคลายล็อกดาวน์ ท่องเที่ยวยังหดตัวสูง เงินเฟ้อติดลบ เสถียรภาพเปราะบาง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่ 2/63 เศรษฐกิจหดตัวสูง-12.5%จากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นบวกเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากที่เกินดุลสูงในไตรมาสก่อน  ประกอบกับเป็นฤดูกาลส่งกำไรและเงินปันผลกลับต่างประเทศของบริษัทต่างชาติในไทย ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

ส่วนเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.63 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 24.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวลดลงที่ 18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลง การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ และการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวสูงขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 18.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ส่วนหนี่งเป็นผลของฐานที่ต่ำ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน  ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเพื่อซ่อมบำรุงถนนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า ธปท.รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. ขาดดุล 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเดือนก่อนที่เกินดุล 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเกินดุล 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนดุลการค้าตามระบบดุลการชำระเงินเดือน มิ.ย. เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเดือนก่อนที่เกินดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ   ดุลบริการและเงินโอนขาดดุลต่อเนื่องที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนที่ขาดดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ