รายงานพิเศษ : ผถห.GSTEEL-GJS ตั้งข้อสังเกต กลุ่ม ” SSG” กอบกู้-กอบโกย

HoonSmart.com>>ผู้ถือหุ้น 2 บริษัท ” GSTEEL-GJS ” แห่ประชุมสามัญประจำปี 2563  แม้จะเป็นวันหยุด 27 ก.ค. ที่ผ่านมา  จากความสงสัยการบริหารงานของ Synegy ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ SSG จ้างมา บริหารด้วยค่าจ้างที่แพงระยับ และดอกเบี้ยมหาโหดที่ Link Capital บริษัทเจ้าหนี้ในกลุ่มของ SSG  คิดดอกเบี้ย 12 % ต่อปี  โดยเห็นว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผลประกอบการที่ดีขึ้นหรือมีกำไร แต่กลับขาดทุนหนัก ซึ่งไตรมาส 1/2563 จีสตีล ขาดทุนถึง 856 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขาดทุน 445 ล้านบาท

รวมทั้งมีการซักถามถึงการเพิ่มทุนของ GJS จำนวน 1,500 ล้านบาท เมื่อ พ.ค. 2562 นำไปเพิ่มกำลังผลิต จาก 60,000 ตัน /ปี เป็น 125,000 ตัน  การชำระหนี้และดอกเบี้ย  กระแสเงินสดที่เหลืออยู่  พร้อมข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี ประเด็น Forensic Audit ในการควบคุมภายใน ที่อาจพบความเสี่ยงทำให้บริษัทเสียหายได้

นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ หรือ “ศิริวัฒน์ แซนด์วิช” ผู้ถือหุ้นกลุ่มจีสตีล ลุกขึ้นถามในที่ประชุมโดยตั้งข้อสังเกตว่า เดือนพ.ค. 2562 ที่ผ่านมา GJS ได้เพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแจ้งวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน นำเงิน 1500 ล้านบาท ไปเพิ่มกำลังผลิตจาก 60,000 ตัน เป็น 100,000 ตัน และ 600 ล้านบาท ใช้หนี้ให้กับ ลิงค์ แคปปิตอล แต่ปรากฏว่า ไตรมาส 1 / 2563 กำลังผลิตของ GJS ยังเท่าเดิมที่ 60,000 ตัน นำเงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นกว่า 1 หมื่นราย ออกไปใช้หนี้ 600 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่มากถึง 347 ล้านบาท หรืออัตราดอกเบี้ย 12 % ต่อปี ถึงกลับกล่าวว่า ไม่มีความมั่นใจใน SSG และ Synegy จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูกอบกู้ หรือกอบโกยสูบเลือดจากกลุ่มจีสตีล รวมทั้งขอให้ Synegy ซึ่งรับจ้างบริหารเดือนละ 10 ล้านบาท ยึดถือประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ยึดประโยชน์ของ SSG

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าว ของผู้ถือหุ้นรายย่อย สอดคล้องกับข้อสังเกตของบริษัทสอบบัญชี เอ.เอ็ม.ที แอสโซซิเอท ที่ตั้งข้อสังเกตในงบการเงินปี 2562 ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ ในเรื่องความผิดปกติของการควบคุมภายใน การแทรกแซง การครอบงำกิจการจากต่างประเทศ ผลประโยชน์ทับซ้อน ที่จะเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดความเสียหายต่อกลุ่มบริษัท จี สตีล จึงได้แต่งตั้งบุคคลที่ 3 “ ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด (“Deloitte”) ทำ Forensic Audit เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา Deloitte ใช้ระยะเวลา ทำงาน 3 เดือน กรอบการตทำงานของ Deloitte เป็นไปตามที่มีการตั้งข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี

นายศิริวัฒน์ ยังขอให้นายราจีฟ ชวาเวิ๊ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของ GJS และ GSTEEL ชี้แจง การใช้เงินเพิ่มทุน , ภาระหนี้ , การดำเนินผลิต และความสัมพันธ์ของ SSG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มจีสตีล ,ว่าทั้ง SSG กับ -Synegy เป็นหุ้นส่วนกันหรือร่วมปล่อยกู้หรือเปล่า

“ ในวิกฤตโควิด-19 และภาวะดอกเบี้ยตกต่ำทั่วโลก เจ้าหนี้ต่างลดภาระให้กับลูกหนี้ แต่หนี้ของกลุ่มจีสตีล มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 12 % SSG เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นทั้งเจ้าหนี้ คุมการบริหารทั้งหมด การเงิน การตลาด ทำให้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ขอให้ทีมบริหารประสารกับเจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นใหญ่ ลดดอกเบี้ยลง อย่ากดดันการผิดนัดชำระหนี้ ในภาวะโควิด-19 ขออย่าคิดเอากลุ่มใด กลุ่มหนึ่งรอด แต่ต้องให้ผู้ถือหุ้นนับหมื่นราย รอดไปด้วยกัน ให้ดูตัวอย่างของ สหวิริยา (SSI) ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ บริหารได้ดี กว่าsynergy และทางเจ้าหนี้ของ ssi ก็ลดดอกเบี้ยให้และช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าเข้ามาช่วยหรือสูบบริษัท ”

นายราจีฟ ได้ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ลิงค์ แคปปิตัล ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของกลุ่มจีสตีล มีผู้ถือหุ้นใหญ่เดียวกับกลุ่มจีสตีล แต่ SSG ไม่ได้ถือหุ้น Synegy ส่วนเงินเพิ่มทุนของ GJS คืนหนี้ให้กับ Link Capital เป็นเงินต้นจำนวน 600 ล้านบาท และดอกเบี้ย 347 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 12%) จากหนี้ทั้งหมด 2,100 ล้านบาท ส่วนอีก 900 ล้านบาท ตามวัตถุประสงค์จะไปเพิ่มกำลังผลิต จาก 65,000 ตัน/ปี เป็นสูงสุด 125,000 ตัน แต่สภาวะตลาดไม่ดี จึงยังไม่ได้เพิ่มกำลังผลิต ปัจจุบันคงเหลือกระแสเงินสดเพียง 350 ล้านบาท เท่านั้น และพยายามลดค่าใช้จ่าย , ลดพนักงาน

สำหรับ GSTEEL ซึ่งผิดนัดชำระหนี้ Link Capital อยู่ระหว่างเจรจายังไม่ได้เสียค่าปรับ ซึ่งจี สตีล มีหนี้ 1,200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 12 %

นายคนิสร์ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มจี สตีล ซีอีโอป้ายแดงของกลุ่มจีสตีล ที่มีประสบการณ์ทำงานองค์กรการเงินของต่างชาติ  เป็นความหวังของผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่จะมาช่วยคนไทยฟื้นฟูกิจการของคนไทย ไม่ให้ต่างชาติเอาเปรียบ โดยเฉพาะประเด็น ดอกเบี้ยมหาโหด 12 % ถูกฝากให้ซีอีโอใหม่ ไปเจรจาขอลดลงให้เหลือไม่ถึง 5 %  ซึ่งซีอีโอเอง ยอมรับว่าเป็นงานที่ท้าท้าย เพราะกลุ่มนี้มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขาย 10 % หรือพูดง่าย ๆ ผลิต 100 บาท ขายได้ 90 บาท และต้นทุนการเงินที่สูง โดยพยายามทำให้กลุ่มจีสตีล กลับมาเป็นบริษัทที่กำไร ไม่สร้างภาระเพิ่มทุนให้กับผถห.อีก

ยังมีสิ่งที่เป็นห่วง เมื่อการประชุมผู้ถือหุ้นของ GJS   มติเสียงข้างมาก ไม่เลือกนายชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ ซึ่งอยู่กับกลุ่มจีสตีล มานาน และ  น.ส.สุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการ ที่เป็นผู้มีความรู้ด้านการเงิน ซึ่งหมดวาระ กลับเข้าเป็นกรรมการ ส่งผลให้นายชัยณรงค์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม  หมดหน้าที่ก่อนการประชุมจบ และเสนอผู้ถือหุ้น คาดว่าเป็นคนที่ SSG เตรียมมา ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน ท่ามกลางความสงสัยของที่ประชุมผู้ถือหุ้น