โดย…บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช
หลังจากที่มอร์นิ่งสตาร์ได้เข้าควบรวมกิจการกับ Sustainlytics ซึ่งเป็นผู้นำในการวิเคราะห์ข้อมูล ESG มอร์นิ่งสตาร์ได้จัดทำรายงาน “Sharpening the Tools of the ESG Investor” โดยได้พิจารณาว่า 1) ปัจจัยด้าน ESG มีความสำคัญต่อการลงทุนอย่างไรและต่อใครบ้าง; 2) นักลงทุนจะใช้ข้อมูล ESG อย่างไรและอะไรเป็นข้อจำกัด; 3) ผู้กำหนดนโยบายมีการสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ESG อย่างไร
ตัวอย่างข้อบกพร่องในการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่พบในปัจจุบัน
• การเปิดเผยข้อมูล ESG มักจะเป็นช่วงเวลาที่ต่างกันกับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน จึงทำให้เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ยาก และไม่สามารถใช้ข้อมูลนั้นให้เป็นประโยชน์ได้เช่นเดียวกับการใช้ข้อมูลทางการเงินในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์
• ข้อมูล ESG จะเปลี่ยนไปเป็นแบบ machine-readable มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงิน (ซึ่งมักจะเป็นรายงานที่นำไปต่อยอดได้) ความโปร่งใสของตลาดทุนจึงเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนเปรียบเทียบการลงทุนได้
• ผู้ออกตราสารทุน
ผู้ออกตราสารที่มีการเปิดเผยปัจจัยด้าน ESG อย่างครบถ้วนสม่ำเสมอมีจำนวนต่ำกว่า 30% ของผู้ออกตราสารทั่วโลก
บริษัทเอกชนมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนจำนวนมากแต่มักจะเลือกตัวชี้วัดจากหลายองค์กร ทำให้รายงานเหล่านี้อาจไม่ประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ จึงไม่อาจเป็นส่วนช่วยให้นักลงทุนเข้าใจในความเสี่ยงของ ESG ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการเปรียบเทียบแต่ละบริษัทอีกด้วย
• ตราสารหนี้
ตลาดตราสารหนี้มีการเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกันและไม่สมบูรณ์ ในบางกรณีมีการให้เรตติ้ง ESG จากความเสี่ยง ESG ที่ผู้ออกตราสารเผชิญ หรือให้เรตติ้งจากการใช้เงินที่ได้จากการออกตราสารว่ามีการใช้ไปกับธุรกิจสีเขียวหรือไม่ การขาดความสอดคล้องกันของมาตรฐานส่งผลให้นักลงทุนยังไม่สนใจ green bonds ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางการลงทุนที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้นักลงทุนสร้างผลกระทบเชิงบวกผ่านการลงทุนได้
• กองทุน
บริษัทจัดการกองทุนมีการเปิดเผยข้อมูล ESG เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ถือครองในพอร์ตในแบบที่ต่างกัน Third party สามารถวิเคราะห์การถือครองสินทรัพย์และประเมินกองทุนได้อย่างยุติธรรมว่าเป็นกองทุนยั่งยืนหรือเป็นไปตามมาตรฐานด้าน ESG ที่กำหนด อย่างไรก็ตามวิธีการนี้อาจไม่ตรงกับคำจำกัดความของบริษัทจัดการที่ใช้ในการเลือกหลักทรัพย์หรือไม่สะท้อนกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง หรือในบางกรณีอาจเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกตราสารเอง
ดังนั้นมอร์นิ่งสตาร์จึงเสนอแนะแนวทางดังนี้
หลักปฏิบัติสำหรับการกำกับดูแลทั่วโลก
1. ฝ่ายกำกับดูแลควรให้การสนับสนุนการใช้มาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ออกตราสารเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานเหล่านั้นหากเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง
2. ฝ่ายกำกับดูแลควรร่วมมือกันเพื่อให้นักลงทุนในแต่ละพื้นที่ สามารถเข้าถึงมาตรฐาน ESG ที่เปรียบเทียบกันได้
3. ฝ่ายกำกับดูแลควรให้เปิดเผยข้อมูล ESG มีช่วงเวลาสอดคล้องกับข้อมูลทางการเงิน
4. ทางด้านกองทุนรวม ฝ่ายกำกับดูแลควรสร้างมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้นักลงทุนทราบว่ากองทุนมีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ในการลงทุนหรือไม่ หรือกองทุนมีการพิจารณาเกณฑ์ด้าน ESG, การประเมินด้านความยั่งยืน, หรือการประเมินการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบต่อส่วนรวมเป็นปัจจัยหลักในวิธีการลงทุน