คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง CPF หนุนเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

คอนแทร็คฟาร์มมิ่งซีพีเอฟ หนุนเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน 

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ( CPF )  เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง  โดยใช้วิธี Impact Valuation ที่จะตีมูลค่าผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของโครงการออกมาเป็นมูลค่าเงิน  พบว่า ปี 2562 เกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เพิ่มขึ้น 230 ราย ผลประเมินมูลค่าที่แท้จริง (True Value) ถึงกว่า 390 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งนั้น พบว่าเกษตรกรมีรายได้ในปีที่ผ่านมา ถึงกว่า 108 ล้านบาท สามารถลดสัดส่วนเกษตรกรที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนลงจาก 40% เหลือ 0%

ส่วนด้านสังคมพบว่า เกษตรกร 85% มีความสามารถส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนมีเวลาว่างอยู่กับลูกและครอบครัวมากขึ้น 2.4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาสังคม อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดในเยาวชน

นอกจากนี้ การที่ฟาร์มสุกรของเกษตรกรซีพีเอฟทุกแห่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งฟาร์มอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอ เพื่อไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ มีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ(Biogas) เพื่อบำบัดมูลสุกรและน้ำใช้ภายในฟาร์ม จึงช่วยลดปัญหากลิ่นและลดก๊าซมีเทนที่ออกสู่ชั้นบรรยากาศ  ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงกว่า 168,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

กล่าวโดยสรุป เมื่อนำผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม มาคำนวณเป็นมูลค่าเงินตามหลักการสากลพบว่า Contract Farming’s True Value มีมูลค่าเป็นบวกและมีค่าสูงถึง 392,206,715 บาท ต่อปี

“การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุน แก่เกษตรกรรายย่อยด้วยระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งนี้ สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนแก่เกษตรกรในโครงการ ลดอุปสรรคด้านการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรซึ่งเป็นด่านแรกในการประกอบอาชีพ  บริษัทยังมีแผนดำเนินโครงการ “ปลดหนี้ สร้างสุข และส่งเสริมการออม” เพื่อให้ความรู้ในการทำบัญชีครัวเรือนและการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพในกลุ่มเกษตรกรด้วย หลังประสบความสำเร็จมาแล้วในกลุ่มพนักงาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสังคมได้อีกทางหนึ่ง” นายวุฒิชัยกล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง การประเมินดังกล่าว ใช้หลักการประเมินตามแนวทาง Natural Capital Protocol และ Social Capital Protocol ของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development- WBCSD) ทำการประเมินเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขุนประเภทประกันรายได้ของซีพีเอฟในประเทศไทย ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้