รายงานพิเศษ : NEX ผนึกพันธมิตร ลุยระบบ Feeder ขึ้นผู้นำอุตสาหกรรม Bus Industry

HoonSmart.com>> “เน็กซ์ พอยท์” ผนึกพันธมิตร ลุยระบบ Feeder จ่อขึ้นแท่นผู้นำอุตสาหกรรม Bus Industry

 

อุตสาหกรรมรถบัสโดยสารของไทย กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนของระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อดีต 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการรายใหญ่คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมขสมก.

แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนรถโดยสารที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่เป็นรถเก่าที่ใช้งานเกิน 20 ปี ทำให้รถเสียและซ่อมบ่อย ไม่พอให้บริการในเวลาที่เร่งด่วน ทำให้เสียโอกาสในการหารายได้ ขณะเดียวกัน สถานที่ทำการพื้นที่จอดเก็บรถ สถานที่ซ่อมบำรุง ไม่เพียงพอ ต้องเช่าเอกชนในราคาสูง และมีการปรับขึ้นราคาอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ การเก็บราคาค่าโดยสารยังต่ำกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็น เพราะรัฐบาลเข้ามาควบคุมราคา

ประเด็นสุดท้ายคือ โครงสร้างการบริหารจัดการที่มีขนาดใหญ่ ขาดแนวคิดและมุมมองที่ทันสมัย ขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน

นี่คือสาเหตุ ทำให้ขสมก.ขาดทุน “บักโกรก” กว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 360 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป็นดอกเบี้ยจ่ายถึง 233 ล้านบาท

จึงเป็นที่มาของการเร่งฟื้นฟูกิจการขสมก. ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.63 ได้ผ่านความเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มีความหวังว่า  จะฟื้นฟู ขสมก.ที่ประสบผลขาดทุนยาวนานมาตั้งแต่ปี 2519 โดยหลังปี 2572 จะต้องไม่ขาดทุนอีก

สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฯฉบับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม มีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

โดยเก็บค่าโดยสารที่ 30 บาท/คน/วัน (ขึ้นได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว)

มีการปรับเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทางเป็น 162 เส้นทาง (ขสมก.108 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) ไม่มีทับซ้อน ช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด

ใช้รถ NGV และรถ EV ประกอบในประเทศ ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 50%

มาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์  (EA) ที่ประกาศร่วมทุนครั้งใหญ่แห่งปี โดยส่งบริษัทย่อย “อีเอ โมบิลีตี โฮลดิง (EMH)” เข้าซื้อหุ้น บริษัท เน็กซ์ พอยท์  (NEX) ในสัดส่วน 40% ใช้งบลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยหวังต่อยอดธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า คาดหวังคืนทุนภายใน 2-3 ปี

ถามว่า NEX ดำเนินธุรกิจอะไร…ทำไม EA ถึงกล้าใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปกว่า 1.5 พันล้านบาท คงต้องมองลึกลงไปถึงโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างผู้ถือหุ้น NEX ว่า มีโอกาสทางธุรกิจหรือไม่

โมเดลธุรกิจของ NEX วางเป้าสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถบัสครบวงจร เชื่อมระบบ Feeder ขนส่งผู้โดยสารเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบนดิน และใต้ดิน โดยปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ซ่อมบำรุง ที่ถือหุ้นโดย NEX และบริษัทสมาร์ทบัส จำกัด ผู้นำอุตสาหกรรมรถเมล์เอกชน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และมีสัญญาซ่อมรถของสมาร์ทบัส เบื้องต้นมีจำนวน 500 คัน ทำให้เห็นรายได้ประจำ (Recurring Income) ที่ชัดเจนและแน่นอน สัญญาระยะยาว 14 ปี ซึ่งดีกว่าสัญญา Adder ขายไฟฟ้าด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ NEX ยังดำเนินธุรกิจให้เช่า และปล่อยลีสซิ่ง รถบัส

และจิ๊กซอว์ ตัวสุดท้ายที่เป็นตัวสำคัญ และเป็นอนาคตที่น่าจับตามองของ NEX นับจากนี้ ภายหลัง EA และพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนำเข้าบัสโดยสารจากจีน เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 80% NEX จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ประกอบและผลิต EV BUS ภายใต้การซัพพอร์ตเทคโนโลยีจาก EA ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงานทดแทนเบอร์หนึ่งของเมืองไทย และเป็นบริษัทสัญชาติไทยเจ้าแรกที่กล้าเปิดตัว รุกเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ และเป็นการต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่ของ EA

อนาคตอันใกล้นี้เราคงได้มีโอกาสได้ใช้บริการรถบัสโดยสาร EV ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ภายใต้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการนำระบบไอทีมาใช้ในการบริหารจัดการรถเมล์ ผู้โดยสารรู้ว่า รถเมล์จะมาถึงในช่วงเวลาไหน และสามารถชำระเงินผ่านระบบ e-ticket ผ่านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของสมาร์ทบัส

คงมองเห็นภาพความยิ่งใหญ่ของ NEX ในอนาคต ภายใต้จุดแข็งของ 3 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม อย่างกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) สมาร์ทบัส ผู้นำอุตสาหกรรมบัสโดยสารเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านนำเข้าบัสโดยสารจากจีน อย่าง “คณิสสร์ ศรีวชิระประภา” CEO คนใหม่ของ NEX ซึ่งเข้ามาเสริมจุดแข็งให้ NEX ก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมบัสโดยสาร ระบบ Feeder ของเมืองไทย ได้ในไม่ช้า