ความจริงความคิด : เป็นหนี้ ไม่หนี ไม่ท้อ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

จากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 (เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2562) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยที่มีหนี้สินมีประมาณ 9.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.2 ของครัวเรือนทั้งหมดโดยมีหนี้สินเฉลี่ย 164,055 บาทต่อครัวเรือน เห็นหนี้ต่อครัวเรือนเยอะขนาดนี้ ก็ต้องรีบอ่านต่อเลย

คนไทยเป็นหนี้เพื่ออะไรบ้าง คำตอบก็คือ

• ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ร้อยละ 37.2
• ใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดิน ร้อยละ 35.3
• ใช้ทำการเกษตร ร้อยละ 14.6
• ใช้เพื่อการทำธุรกิจ ร้อยละ 11
• ใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 1.3
• หนี้อื่นๆ ร้อยละ 0.6

ผลกระทบจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับปัจจัยลบจากการส่งออก ภัยแล้ง และ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนไทยลดน้อยลง แต่ก็ทำให้หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ชะลอตัวลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพราะรายได้ลดและไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้ต่อป่าวหลัง Covid แต่ยังไงเราก็ต้องกินต้องใช้ สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ เลยไม่ได้ลด ปัญหาคือ หนี้พวกนี้ดอกแพงมาก แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

ไม่ว่าตอนนี้เรายังเป็นหนี้ดี (คือยังไม่เบี้ยวหนี้) หรือ เป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกกันศัพท์ทางการเงินว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-performing Loan) คือ หนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน (ถ้าค้างจ่ายค่างวดติดกัน 30-90 วันเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษเรียกว่า Special mention (SM)) ถ้าอยากแก้หนี้ให้ได้ ทำยังไงดี

1.เดินทางยังต้องวางแผน แก้หนี้ยากกว่าการเดินทาง จึงยิ่งจำเป็นต้องวางแผน จะวางแผนเดินทาง ยังต้องหาข้อมูล จะวางแผนแก้หนี้ ก็ต้องหาข้อมูลเช่นกัน เริ่มจากข้อมูลของตัวเราเองเลย

ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของเราเองตลอดเดือน เพื่อดูว่าทั้งเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายไหนพอจะลดหรือตัดทิ้งได้บ้าง อย่างเช่น ค่าหวย ค่าเหล้า ฯลฯ ตัดค่าใช้จ่ายแล้ว รายได้พอใช้มั๊ย ถ้าไม่พอมีทางไหนเพิ่มรายได้ได้บ้าง ทำทุกอย่างแล้วมีเหลือเก็บออมหรือไม่

ทำบัญชีทรัพย์สินว่ามีอะไรบ้าง อะไรพอจะขายได้ ถ้าขายน่าจะขายได้เท่าไหร่ (เอาราคาตลาดที่คิดว่าขายได้จริงๆนะ อย่าเอาราคาที่เราอยากขาย อย่างเช่น อยากขายรถที่เพิ่งซื้อมา 1 ล้านบาท ขายจริงๆอาจได้แค่ 7 แสน ก็ต้องใช้ราคา 7 แสน)

ทำบัญชีหนี้สิน แบ่งแยกประเภทหนี้ จำนวนหนี้ แยกประเภทหนี้ เป็นกลุ่มแบงค์ นอนแบงค์ หนี้นอกระบบ จดรายละเอียดให้ครบ เรียงลำดับหนี้จากน้อยไปหามาก เอาไว้ดูเวลาจะชำระหนีสิ้น

เลือกจ่ายตัวที่ดอกเบี้ยแพงสุดก่อน และเลือกจ่ายตัวที่จำนวนหนื้น้อยๆก่อน เพื่อจะได้ตัดปัญหาทีละเปลาะ โดยการเอาเงินออมที่ได้จากการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย หรือ การขายทรัพย์สินมาชำระหนี้ แต่ถ้ายังรู้สึกไม่พอเป็นปัญหาอยู่อีก ทำอย่างไรดี เบี้ยวหนี้เลยดีมั๊ย อย่านะ ไม่เข้าตาจนจริงๆ ไม่อยากให้ทำเลย

สำหรับคนที่ยังเป็นหนี้ดีอยู่

ตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อและบัตรเครดิต SME ไปจนถึงลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มาตรการช่วยเหลือก็มีทั้งให้ลูกหนี้สามารถพักชำระเงินต้น หรือเลื่อนชำระหนี้ได้ โดยยังไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ และไม่ทำให้เสียประวัติการผ่อนชำระในฐานข้อมูลเครดิตบูโร (ดูรายละเอียดเบื้องต้นของการช่วยเหลือจากธนาคารที่ตนใช้บริการอยู่ได้ที่ https://techsauce.co/tech-and-biz/thai-commercial-bank-financial-support-in-covid-19)

มาตรการช่วยเหลือที่สถาบันการเงินประกาศ เป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำของแต่ละแห่งเท่านั้น ลูกหนี้ยังสามารถเจรจากับสถาบันการเงินให้ยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนเพิ่มเติมได้ในหลายรูปแบบ ถ้าเห็นว่ายังผ่อนชำระไม่ไหว เช่น ขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็ได้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังสามารถขอรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้บัตรไปที่สถาบันการเงินอื่นที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เช่น ปัจจุบันธนาคารออมสิน มีสินเชื่อบัตรเงินสด GSB Refinance ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยใน 4 ปีแรกเพียงร้อยละ 8.50-10.50 ต่อปี

สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน หรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ก็สามารถโทรปรึกษาศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของแบงค์ชาติได้ที่โทร. 1213

สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย

อย่าเพิ่งท้อนะ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือนธันวาคม 2563 (มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน) คลินิกแก้หนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ช่วยได้ จุดน่าสนใจของคลินิกแก้หนี้ คือ

1.รวมหนี้จากทุกเจ้าให้เหลือหนี้เพียงก้อนเดียว ทำสัญญาแก้หนี้เพียงฉบับเดียวเท่านั้น

2.ผ่อนยาวได้ ไม่เกิน 10 ปี มีดอกเบี้ยขั้นต่ำ 4 – 7% ต่อปี ถูกกว่าบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 18% หรือ 28%

3.มีการให้ความรู้ด้านการเงินกับคนที่เข้ามาปรึกษา เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้สินของตนเองได้

แถมช่วงเมษายน – กันยายน ยังมีโปรโมชั่นให้กับลูกหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ คนที่จ่ายสม่ำเสมอได้ลดดอกเบี้ย 2% ส่วนคนที่จ่ายไม่ไหว ก็เลื่อนกำหนดชำระหนี้ให้ 6 เดือน ไม่ถือเป็นผิดนัด ไม่เสียประวัติ สนใจรายละเอียด ติดต่อ

– Call center 0 2610 2266
– www.คลินิกแก้หนี้.com
– www.debtclinicbysam.com
– Line ID @debtclinicbysam

อ่านข่าว

ธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อ 2-4% อัดฉีดรายย่อยเพิ่ม ก่อนเป็น NPLs