ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 400 จุด ทั้งสัปดาห์ร่วง 5.6%

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่ง 400 จุด ได้แรงซื้อกลับหนุน ทั้งสัปดาห์ร่วง 5.6% ด้านตลาดหุ้นยุโรปบวกยกแผง ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงเล็กน้อย เบรนท์ขยับขึ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดตลาดวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ 25,605.54 จุด พุ่งขึ้น 477.37 จุด หรือ +1.90% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนจากแรงซื้อกลับส่วนหนึ่งบนราคาที่ลดลงก่อนหน้า แต่ยังเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเพราะมีแรงขายทำกำไรและมีความกังวลมากขึ้นต่อการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,041.31 จุด เพิ่มขึ้น 39.21 จุด, +1.31%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,588.81 จุด เพิ่มขึ้น 96.08 จุด, +1.01%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 5.6% ส่วนดัชนี S&P500 ลดลง 4.8% และดัชนี Nasdaq ลดลง 2.3%

หุ้นที่ขึ้นอยู่กับผลการเปิดเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้นเดลต้าแอร์ไลน์เพิ่มขึ้น 11.87% หุ้นอเมริกันแอร์ไลน์เพิ่มขึ้น 16.41% หุ้นยูไนเต็ดแอร์ไลน์เพิ่มขึ้น 19.02%

ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ได้รับผลกระทบจากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 30-40%ในหลายรัฐ ขณะที่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะมีการระบาดรอบสองและมีผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีว่า สหรัฐฯไม่สามารถปิดเมืองรอบสองได้อีกแล้ว

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 ราย

ด้านนายทอม บาร์กิน ประธานธนาคารกลาง(เฟด)สาขาริชมอนด์เปิดเผยในการเสวนาที่จัดโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจเวอร์จิเนียเทค(Virginia Tech Office of Economic Development)ผ่านระบบออนไลน์ว่า การระบาดของไวรัสจะมีผลกระทบไปนานเกินกว่า 2 เดือนข้างหน้า และเตือนว่าคนตกงานนับล้านรายระหว่างการระบาดอาจจะไม่สามารถกลับสู่ระบบได้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund :IMF) เปิดเผยว่า รัฐบาลทั่วโลกได้ใช้เงิน 10 ล้านล้านดอลลาร์ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ และจะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายนนี้

นักลงทุนจับตาแถลงการณ์นโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีว่าด้วยต่อคณะกรรมาธิ การ การธนาคารประจำวุฒิสภาของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 มิถุนายน

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญเมื่อคืนนี้ ราคานำเข้าเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2019 ส่วนมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 78.9 จาก 72.3 ในเดือนพฤษภาคม และสูงกว่า 75.0 ที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยแรงซื้อกลับหลังจากที่ร่วงลงไป 4% ในวันก่อนหน้าจากคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ที่ติดลบ 6.5%ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลบการเติบโตเศรษฐกิจของอังกฤษสะท้อนว่ายุโรปและอังกฤษได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีอังกฤษเดือนเมษายนติดลบ 20.4%

อังกฤษยังยกเลิกแผนที่จะให้มีการตรวจตราบริเวณพรมแดนกับสหภาพยุโรปที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 มกราคม หลังจากได้รับแรงกดดันจากภาคธุรกิจ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายท่ามกลางการระบาดของไวรัส และตกลงที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่กับอียูตามที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่เส้นตายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือ พำประ จะครบกำหนดในสิ้นปีนี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,105.18 จุด เพิ่มขึ้น 28.48 จุด, +0.47%

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 354.06 จุด เพิ่มขึ้น 0.99 จุด, +0.28%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,839.26 จุด เพิ่มขึ้น 23.66 จุด , +0.49%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,949 จุด ลดลง 21.01 จุด, -0.18%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 8 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 36.26 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 18 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 38.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล