โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เห็นข่าวรัฐบาลเริ่มปลดล็อคเพิ่มขึ้นเรื่อย ส่วนจำนวนผู้ป่วย covid19 ใหม่ก็น้อยลงไปเยอะจนบางวันไม่มีผู้ป่วยใหม่เลย ก็ดีใจ และสบายใจที่วิกฤติครั้งนี้ผ่านไปแล้ว แต่พอได้เห็นข้อมูลคนตกงาน และรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสถาบันการเงินต่างๆ ความสบายใจที่เพิ่งได้มาก็เริ่มหายไปพร้อมกับความกังวลเข้ามาแทนที่
เริ่มจากข้อมูลเมื่อ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้มีการจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน โดยประกันสังคมได้จ่ายเงินไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. – 11 พ.ค.2563 จำนวน 706,633 คน เป็นเงิน 3,997.550 ล้านบาท
และหากมองที่จำนวนคนที่ต้องออกจากงานไม่ว่าจะลาออกเอง หรือ ถูกเลิกจ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และถูกการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมนายจ้างหรือสถานประกอบการต้องปิดกิจการเลิกจ้าง โดยในเดือน ม.ค. มียอดขึ้นทะเบียน 74,775 คน, ก.พ. 84,117 คน, มี.ค. ขยับสูงขี้น 144,861 และเดือน เม.ย. ยอดทะลักสูงสุด 267,351 คน รวมยอดตกงาน 5 เดือน 571,104 คน
แต่เมื่อมาดูข้อมูลเศรษฐกิจจากบทความ “ธุรกิจเก่าไป ใหม่ไม่มา” อีกสัญญาณลบสะท้อนเศรษฐกิจซบเซา ของ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสถานะนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2563 (ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2563) พบว่าจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการเพิ่มสูงขึ้นจาก 4 พันรายในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2562 มาเป็น 4.9 พันรายในช่วงเดียวกันปี 2563 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 22.3%
นอกจากนี้จำนวนบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน ได้แก่ กิจการที่มีสถานะถูกพิทักษ์ทรัพย์และล้มละลายก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 138 เป็น 202 ราย คิดเป็นการเพิ่มขึ้นสูงถึง 46.4% ขณะเดียวกันยอดการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่กลับลดลงจาก 1.5 หมื่นเหลือ 1.4 หมื่นราย หรือคิดเป็นการลดลง -5.3% การออกจากธุรกิจที่มากขึ้น (“เก่าไป”) และการจัดตั้งกิจการที่ลดลง (“ใหม่ไม่มา”) เป็นอีกภาพสะท้อนของสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบในหลายด้านซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของหลายกิจการ รวมถึงความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของภาคเอกชน แสดงว่าตัวเลขคนตกงานน่าจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะแม้ว่ารัฐบาลจะปลดล็อคแล้วก็ตาม
ถ้าอย่างนั้น ลูกจ้างควรจะต้องรู้อะไรบ้างเมื่อต้องตกงาน
สิทธิประกันสังคม
• กรณีนายจ้างปิดกิจการเลิกจ้าง ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมร้อยละ 70 ของค่าจ้าง จนกว่าจะได้งานใหม่ แต่ไม่เกิน 200 วัน เพิ่มจากเดิมที่ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
• หากลาออกเองได้ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน เพิ่มจากเดิมที่ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
จะได้รับเงินชดเชยตามสิทธิประกันสังคม ลูกจ้างต้องยื่นขอใช้สิทธิผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ในหัวข้อ “ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน online” หรือ ยื่นด้วยวิธีปกติ โดยดาวน์โหลดแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยพิมพ์แบบออกมาเพื่อกรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร และจัดส่งเอกสารให้สำนักงานประกันสังคมทางไปรษณีย์ตอบรับ/โทรสาร/อีเมล/ LINE ตามที่สำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่กำหนด สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สนง.ประกันสังคมโทร.1506
สิทธิในการได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายจากการจ้างงานตามมาตรา 118
• ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
• ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน
• ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน
• ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน
• ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน
• ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน
นอกจากได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับเงินชดเชยตามกฎหมายกรณีที่ ถูกเลิกจ้าง แล้วได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายมาตรา 118 คือ ยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท (หลักฐานที่สรรพากรใช้พิจารณา คือ หนังสือเลิกจ้าง และใบหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินชดเชยตายกฎหมายแรงงาน)
ขั้นตอนถัดมาให้พิจารณาที่อายุงาน ในกรณีที่มีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเลือกแยกยื่นภาษีตามมาตรา 48(5) แต่ถ้าอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปยื่นรวมกับเงินได้ตามปกติ
สำหรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะจ่ายให้ในกรณีที่ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ ดังนั้น กรณี ลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้วบริษัทจ่ายเงินชดเชยซึ่งคำนวณตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 118 ดังนั้น ไม่มีสิทธิ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท
หมายเหตุ เงินชดเชยตามกฎหมาย ไม่ได้หมายถึงเงินเดือนอย่างเดียว แต่รวมถึงเงินค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมันรถ และอื่น ๆ ที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นปกติทุกเดือนโดยไม่ต้องใช้ใบเสร็จประกอบ
เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยเงิน 4 ส่วน คือ 1 เงินสะสม(ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน) 2 เงินสมทบ (นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน) 3 ผลประโยชน์เงินสะสม 4 ผลประโยชน์เงินสมทบ แต่เงินที่มีภาระทางภาษี คือ เงินก้อนที่ 2, 3 และ 4 เท่านั้น ภาระภาษีจะเป็นอย่างไร เท่าไร ขึ้นอยู่กับการเลือกจัดการกับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้าง ซึ่งมี 4 ทาง คือ
1.คงเงินไว้ในกองทุนแล้วรอจนครบอายุ 55 ปี
2.คงเงินไว้ในกองทุนเดิม เพื่อโอนเงินไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างใหม่
3.โอนย้ายไป RMF for PVD
4.รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทางเลือกที่ 1-3 ลูกจ้างไม่มีภาระภาษีเกี่ยวข้องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใดๆทั้งสิ้น เพราะยังไม่ได้เอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่สำหรับลูกจ้างที่เลือกรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะต้องนำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากส่วนที่ 2-4 (เงินสมทบ+ผลประโยชน์เงินสะสม+ผลประโยชน์เงินสมทบ) ไปแสดงรายการเพื่อชำระภาษี ซึ่งแยกได้เป็น 2 กรณี
1.อายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี : สามารถเลือกแยกยื่นภาษีตามมาตรา 48(5) เช่นเดียวกับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
2.อายุงานน้อยกว่า 5 ปี : ยื่นรวมคำนวณภาษีตามปกติ
แต่จะเลือกทางไหน ลูกจ้างต้องตัดสินใจและแจ้งฝ่ายบุคคลเองครับ
อ่านประกอบ