COVID-19 กับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


โดย..นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ช่วงนี้ได้ยินเพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลายท่านกังวลกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับลดลงค่อนข้างมากทำให้ผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดลงไปด้วย

ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับ “วิกฤตโควิด” จากสิ้นเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน SET Index ปรับลดลงถึง 212.48 จุด หรือ -14% โดยเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 173.62 จุด หรือ -11% และในเดือนมีนาคม ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดหนักที่สุด SET Index ก็ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงถึง 214.66 จุด หรือ -16% และได้เริ่มปรับตัวขึ้นในเมษายนที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นไปกว่า 175.8 จุด หรือ +16% ไปอยู่ที่ 1301.66 จุด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการเชิงรุกของภาครัฐด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดและ
ผู้ลงทุน

เมื่อเห็นการขึ้นลงของตลาดหุ้นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่หลาย ๆ ท่านจะมีความกังวล แต่เมื่อผู้เขียนได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้มีกองทุนบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย โดยข้อมูล ณ มีนาคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value) ที่ขาดทุน 10% ขึ้นไป และน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

จากสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในเดือนเมษายน เนื่องจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยประมาณ 82% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และ 30% ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน โดยเกือบทั้งหมดเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ
ในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ขณะที่ลงทุนในตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (non-investment grade และ unrated) เพียง 50 ล้านบาท หรือ น้อยกว่า 0.005% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท การลงทุนในหุ้นมีเพียง 22% จึงได้รับผลกระทบน้อยในช่วงตลาดหุ้นมีความผันผวน

แม้การลงทุนในหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากราคาตลาดได้มากกว่า แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเช่นกันหากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี สำหรับสมาชิกที่อายุยังน้อย มีเวลาอีกมากในการทำงานก่อนเกษียณ หรือสมาชิกที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากหากมีการขาดทุนในระยะสั้น การมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการมีเงินออมเพียงพอรองรับการเกษียณ ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้พวกเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีเงินออมมากขึ้น
เพื่อเพียงพอมีใช้ภายหลังเกษียณ สมาชิกจึงควรมีสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงให้เหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาการลงทุนของตนเองหากท่านเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการออมเพื่อรองรับการเกษียณ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความได้เปรียบมากกว่าการออมประเภทอื่น ๆ ในหลายประการ ทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเสมือนได้รับโบนัสเพิ่มในแต่ละเดือน มีผู้จัดการมืออาชีพมาช่วยบริหารเงิน มีคณะกรรมการกองทุนมาช่วยคัดเลือกและติดตามดูแลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนให้อีกชั้นหนึ่ง ยังพบว่ามีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ท่านได้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณได้ง่ายขึ้น

สำหรับสมาชิกกองทุนที่จะเกษียณในปีนี้ (จากสถิติที่ผ่านมาในแต่ละปีจะมีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณประมาณ 2-3 หมื่นคน) ท่านสามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อได้เพื่อให้การลงทุนมีความต่อเนื่องโดยไม่มีภาระต้องส่งเงินเพิ่มแต่อย่างใด ไม่ควรเอาเงินออกมาทั้งหมดในคราวเดียว แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินบางส่วน ควรขอรับเงินเป็นงวดออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เช่น นำเงินออก 50,000 บาท ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้การออมมีความต่อเนื่องและมีผลตอบแทนงอกเงยไว้ใช้อย่างเพียงพอภายหลังเกษียณ เนื่องจากการขอรับเงินเป็นงวด ท่านจะยังคงสถานะสมาชิกกองทุนอยู่เช่นเดิม และบริษัทจัดการจะบริหารเงินของท่านต่อไป โดยไม่ต้องส่งเงินเพิ่มเช่นกัน

ทั้งนี้ สามารถติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อขอรับเงินเป็นงวด หรือทยอยเอาเงินออกจากกองทุน โดยระยะเวลาการคงเงิน และการขอรับเงินเป็นงวดจะขึ้นกับข้อบังคับกองทุน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละกองทุน ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในข้อบังคับกองทุนของท่านเพิ่มเติม

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อ่านประกอบ

วิธีจัดการกับ PVD เมื่อต้องเผชิญกับ “วิกฤตโควิด”