HoonSmart.com>> มอร์นิ่งสตาร์ เผยผลศึกษาประสบการณ์การลงทุนกองทุนรวมทั่วโลก ใช้มาตรการภาษีกระตุ้นนักลงทุน ออกกฎเกณฑ์ช่วยลดต้นทุน ชี้ “ไทย” อยู่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ด้าน “สิงคโปร์-ฮ่องกง” ไม่มีการเก็บภาษีจากนักลงทุน ส่วน “ค่าธรรมเนียมการขาย” พบหลายประเทศแนวโน้มเก็บลดลง
น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก Global Investor Experience (GIE) ที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยเป็นการให้คะแนนด้านประสบการณ์การลงทุนกองทุนรวมของนักลงทุนใน 26 ตลาดการลงทุนในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา หัวข้อกฎเกณฑ์และการจัดเก็บภาษี (Regulation and Taxation) เป็นการประเมินโครงสร้างกฎเกณฑ์และภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม โดยให้ระดับคะแนนแต่ละตลาดเป็น Top, Above Average, Average, Below Average, และ Bottom
“นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีได้หลายแบบ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งถือเป็นภาคบังคับสำหรับข้าราชการ และไม่มีการเก็บภาษีกำไรส่วนต่าง อย่างไรก็ตามข้อดีต่าง ๆ ก็มาพร้อมกับต้นทุนการขายที่เก็บจากผู้ลงทุนรวมไปถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ soft dollars ส่งผลให้ประเทศไทยได้คะแนนด้าน Regulation and Taxation ที่ระดับ Average” น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส จากมอร์นิ่งสตาร์กล่าว
ทั้งนี้ การศึกษาในหัวข้อนี้จัดทำขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตามยังพบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการลงทุน รวมทั้งช่วยเหลือธุรกิจและนักลงทุนให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
สำหรับปัจจัยด้านสภาพคล่องถือเป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นช่วงตลาดผันผวน นอกเหนือจาก ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ แล้วหลายประเทศยังมีการใช้เกณฑ์เพื่อจำกัดสัดส่วนการลงทุนสำหรับหลักทรัพย์สภาพคล่องต่ำ และมักมีการเปิดเผยข้อมูลการลงโทษต่อสาธารณะเมื่อมีผู้กระทำผิด
น.ส.ชญานี กล่าวว่า จากผลการศึกษามอร์นิ่งสตาร์ให้คะแนนระดับสูงสุด (Top) แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร แสดงถึงการมีกฎเกณฑ์และการจัดเก็บภาษีที่เป็นมิตรกับตลาด และให้คะแนนระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (Below Average) ให้แก่ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น นิวชีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยังต้องปรับปรุงระเบียบแบบแผนในด้านกฎเกณฑ์และภาษี โดยมอร์นิ่งสตาร์ไม่ได้ให้คะแนนระดับ Bottom ในตลาดใด เนื่องจากในทุกตลาดมีมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองนักลงทุน
Aron Szapiro Head of Policy Research มอร์นิ่งสตาร์ เปิดเผยว่ากฎเกณฑ์และการจัดเก็บภาษีของอุตสาหกรรมกองทุน มอร์นิ่งสตาร์มองหานโยบายที่ส่งเสริมให้นักลงทุนประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เช่น มาตรการภาษีที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและจำกัดเหตุที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความขัดแย้งทางผลประโยชน์
“เราพบว่าผู้มีอำนาจควบคุมในสหรัฐฯ และแคนาดามีการใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพ แต่แนวทางการปฏิรูปไม่ได้ก้าวทันตามประเทศอื่นทั่วโลก ทำให้สหรัฐฯ และแคนาดายังคงได้คะแนนระดับ Below Average อย่างต่อเนื่องในการศึกษาหัวข้อนี้” Aron กล่าว
Andy Pettit Director of policy research, EMEA กล่าวว่า แนวโน้มการใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อปกป้องคุ้มครองนักลงทุนกองทุนรวมยังคงมีอยู่ต่อเนื่องนับตั้งแต่การจัดทำรายงานในรอบปี 2017 ซึ่งเห็นว่าในหลายตลาดมีการกระตุ้นให้ประชากรทุกกลุ่มลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีหรือมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อให้ค่าธรรมเนียมกองทุนต่ำลง เช่น บังคับการเปิดเผยข้อมูล
สำหรับประเทศจีนยังขาดการส่งเสริมให้มีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนผ่านกองทุนรวมในวงกว้าง ประเทศจีนมีเพียงโครงการบำเหน็จบำนาญที่บริหารจัดการโดยภาครัฐโดยไม่มีรูปแบบกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบภาคบังคับอื่นใด นอกจากนี้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของต้นทุนค่าใช่จ่าย third-party research และ soft dollars ค่อนข้างหละหลวม ถึงแม้ว่าจีนมีความพยายามที่จะเปิดตลาดทุนมากขึ้น ตัวเลือกของกองทุนยังคงจำกัดอยู่กับกองทุนในประเทศ
ด้านการเติบโตของ ETF ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกการลงทุนมากขึ้นในหลายตลาด แม้ว่าผู้ขายจะมีแรงจูงใจที่จะเสนอขายกองทุนเปิดมากกว่าก็ตาม นอกจากนี้การเก็บภาษีจาก ETF อาจมีความแตกต่างในแต่ละตลาด ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ มีความต่างด้านภาษีที่เป็นประโยชน์กับ ETF ในขณะที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยในนิวซีแลนด์จะเสียประโยชน์ทางภาษีหากลงทุน ETF
อย่างไรก็ตามแม้กองทุนในหลายประเทศยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมการขายจากค่าใช้จ่ายกองทุน แต่ก็มีแนวโน้มลดลง เช่น การห้ามเก็บค่า commission ในออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันในฮ่องกงหากตัวกลางได้รับผลประโยชน์ไม่ว่ารูปแบบตัวเงินหรือรูปแบบใดจากผู้ออกกองทุนแล้วจะไม่ถือว่าเป็นตัวกลางอิสระ
ผลการศึกษาจากทั้งหมด 26 ตลาดที่ทำการศึกษามเีพียงสิงคโปร์และฮ่องกงที่ไม่เก็บภาษีใดๆ จากผู้ลงทุนกองทุนรวม ในหลายตลาดมีการยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างหากผู้ลงทุนยังถือครองหน่วยอยู่ แต่อาจมีการเก็บจากส่วนอื่น ขณะที่สหรัฐฯและออสเตรเลียจะต่างจากตลาดอื่น มีการเรียกเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างจากกองทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปที่ผู้ลงทุนที่ยังถือครองกองทุนนั้นๆ อยู่