โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)
หุ้นเวียดนาม ฟื้นตัวขึ้นทั้ง 2 วันทำการของไตรมาส 2 หลังดัชนี VN ผ่านทดสอบจุดต่ำสุดแถว 660 ไป 2 ครั้งช่วงปลาย มี.ค.
สภาพคล่อง เป็นปัจจัยแรกที่เข้ามาช่วยยับยั้งการร่วงลงแบบ free fall ของสินทรัพย์ต่างๆแทบทั้งโลก หุ้นเวียดนามก็ยืนยันเช่นนั้นโดย VN Index ปิดต่ำสุด 659.21 เมื่อ 24 มี.ค. ถัดจากวันที่เฟดประกาศทำ Unlimited QE แล้วก็เริ่มฟื้นตัว
COVID-19 ล่าสุด (4 เม.ย.) เวียดนาม ติดเชื้อ 239 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต นับว่าเบากว่าเพื่อนบ้านกลุ่ม ASEAN5 ซึ่งแต่ละประเทศมียอดติดเชื้อทะลุหลักพัน เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามดูแลปัญหาอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยใช้มาตรการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น mass quarantines และ comprehensive tracking
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้โตแค่ +4.8% ชะลอจาก +7.02% ในปี 2019 เพราะธุรกิจหลายกลุ่มอาทิ ภาคผลิต ค้าปลีก ส่งออกและนำเข้า ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่ถึงกระนั้นคาดการณ์ GDP ของเวียดนามก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยเอเชีย +2.2% จีน +2.3% อินเดีย +4.0% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ +1.0% และไทย -4.8%
ภาวะเงินเฟ้อสูง ที่เคยกดดันค่าเงินด่อง (VND) เริ่มบรรเทาลง ผลจากการควบคุมราคาสินค้าโดยเฉพาะหมู ซึ่งเวียดนามเร่งนำเข้าเพื่อชดเชยซัพพลายที่หายไปเพราะไข้อหิวาต์แอฟริกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็เป็นอีกปัจจัยที่น่าจะทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวต่อไป
เงินด่องกลับมามีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับเงินบาท เพิ่มความน่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนไทยในการลงทุนหุ้นเวียดนาม
หุ้นเวียดนามอยู่บนเส้นทาง “ยกระดับ” จากปัจจุบัน Frontier Market (ตลาดชายขอบ) ไปเป็น Emerging Market (ตลาดเกิดใหม่) ในอนาคต โดยต้นเดือนนี้ FTSE Russell บริษัทจัดทำดัชนีระดับโลก เผยผลการทบทวนหมวดหมู่ระหว่างกาล (interim country classification review) ของตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ระบุว่า เวียดนาม ยังอยู่ใน Watch List (ตั้งแต่ ก.ย. 2018) ที่มีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นสู่สถานะ Secondary Emerging Market ทั้งนี้ เวียดนามได้ดำเนินการปฏิรูปเพื่อมุ่งพัฒนาตลาดทุนร่วมกับทาง FTSE Russell โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในรอบทบทวนประจำปี (Annual Review) เดือน ก.ย. เราเชื่อมั่นว่า “การยกระดับ” ไม่ช้าก็เร็วต้องเกิดขึ้น และจะดึงดูด fund flows ให้ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ
KT-CLMVT ลงทุนแบบเชิงรุก (active) เน้นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย (CLMVT) รวมถึงบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดย ณ สิ้นเดือน ก.พ. ลงทุนในเวียดนาม 67.35% ที่เหลือเป็นหุ้นไทยและสภาพคล่อง กองทุนนี้มีให้เลือก 2 ชนิดคือ KT-CLMVT-A (สะสมมูลค่า) และ KT-CLMVT-D (จ่ายเงินปันผล)
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน