บลจ.ไทยพาณิชย์คาดหุ้นโลกผันผวนระยะสั้น ลุยปันผล 3 กองทุนตปท.

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์จ่ายปันผล 3 กองทุนตปท. “หุ้นอินเดีย-ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่-โกลบอลเฮลธ์แคร์” มูลค่ารวมกว่า 27 ล้านบาท ชี้หุ้นทั่วโลกร่วงหนัก กังวลโควิด-19 แพร่ระบาดหลายประเทศกระทบเศรษฐกิจโลก คาดความผันผวนอยู่ในระยะสั้น มองหุ้นกลุ่ม Healthcare ปรับฐาน น่าสนใจลงทุนระยะยาวเติบโต

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ เตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศพร้อมกันจำนวน 3 กองทุน มูลค่ารวมกว่า 27 ล้านบาท ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 นี้ สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2562 – วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) จ่ายปันผลในอัตรา 0.2133 บาทต่อหน่วย ซึ่งได้มีการจ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 จำนวน 0.1100 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.1033 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 8 รวมจ่ายปันผลจำนวน 0.9083 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558)

กองทุน SCBINDIA มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (NASDAQ) บริหารงานภายใต้ความดูแลของ BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ CNX NIFTY Index เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ CNX NIFTY Index TR USD

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND) จ่ายปันผลในอัตรา 0.2791 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 4 รวมจ่ายปันผลจำนวน 0.6897 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds – Emerging Markets Investment Grade Bond Fund ชนิดหน่วยลงทุนShare Class C (ACC) ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สิน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่บริหารงานโดย J.P Morgan Asset Management

สำหรับอีก 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2562 – วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจ่ายปันผลในอัตรา 0.1584 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 4 รวมจ่ายปันผลจำนวน 0.5737 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558) ทั้งนี้กองทุน SCBGHC มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Janus Global Life Sciences Fund ชนิดหน่วยลงทุน I Share Class (Institutional Share Class) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

กองทุน SCBGHC เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิต (Life Sciences) หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ บริษัทด้านการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นต้น

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นอินเดียมีความผันผวนมากขึ้น ด้วยค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลง ซึ่งเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ตลาดมีความกังวลต่อดุลการค้าของอินเดียว่าจะมีการขาดดุลเพิ่ม เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันเป็นหลักถึงเกือบร้อยละ 80 ของความต้องการด้านพลังงานเชื้อเพลิงในประเทศ รวมไปถึงเมื่อช่วงต้นปี 2562 มีการปะทะกันระหว่างอินเดียและปากีสถานบริเวณดินแดนแคชเมียร์ ที่ทำให้องค์ประกอบโดยรวมของตลาดอินเดียไม่ดีเหมือนตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย

ทั้งนี้ หลังจากที่นาย นเรนทระ โมที ได้ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งและมีเสียงส่วนใหญ่ในสภาทำให้ตลาดปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารกลางอินเดียได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องของตลาดและเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบายจากรัฐบาลที่ออกมาเพิ่มทุนให้ธนาคารรัฐที่มีหนี้เสีย และนโยบายปฏิรูประบบธนาคารเพื่อจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และสามารถที่จะปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจต่อไป

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินเดียมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่องในปี 2562 จากอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 6 มาอยู่ที่ 5.15 ซึ่งยังสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยราคาน้ำมันที่ต่ำลงอย่างหนักในช่วงหลัง จะช่วยเรื่องเงินเฟ้อสูงในอินเดียได้

สำหรับภาพรวมการลงทุนตราสารหนี้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวค่อนข้างผันผวน โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคาของตราสารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวลดลง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า

นอกจากนี้ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีท่าทีผ่อนคลายลงก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีต่อตราสารกลุ่มนี้ สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นปี 2563 และการประกาศสงครามราคาน้ำมันของซาอุดิอาระเบียกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันให้มีเงินทุนไหลออกจากตราสารเสี่ยงทั่วโลกจากความไม่แน่นอนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทั้งสองเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม

ทั้งนี้คาดว่านโยบายการเงินและการคลังฉุกเฉินที่ประกาศออกมาในหลายประเทศจะช่วยประคับประคองและจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนภาพรวมหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/2562 ตลาดหุ้นในกลุ่มพัฒนาแล้วปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังได้รับแรงหนุนจากจากสภาพคล่องที่ขยายตัว ภายหลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรปได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) และแสดงจุดยืนที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป อีกทั้งประเด็นสงครามทางการค้าดูมีท่าทีที่ดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงทางการค้า Phase I ได้สำเร็จ ประกอบกับการเมืองในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มที่ดีขึ้นภายหลังการจัดการเลือกตั้งและพรรค Conservative ของ นายบอริส จอห์นสัน ครองเสียงข้างมากในสภา อีกทั้งยังครองเสียงเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้ร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ผ่านสภาได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนก.พ.2563 ที่ผ่านมา สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเกิดเผชิญความผันผวน ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกกดดันอย่างหนักจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้น หลังพบการกระจายตัวของผู้ป่วยไปในหลายประเทศ สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวทั่วโลกที่ชะลอตัวลง การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงรวมถึงการหยุดชะงักและการขาดตอนของโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งคาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกอาจเผชิญความผันผวนอยู่ในระยะสั้น

แต่อย่างไรก็ดี การปรับฐานของราคาที่เกิดขึ้น ทำให้ Valuation ของกลุ่ม Healthcare มีความน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งในระยะยาวนั้น กลุ่ม Healthcare ยังคงได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ รวมถึงมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นและความเจริญที่ขยายตัวทั่วโลกที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อไป