HoonSmart.com>>”เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ” ถือหุ้นใหญ่ บริษัทในตลาดหุ้นไทย ทั้งหมด 11 บริษัท ส่วนใหญ่มีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2562 และในไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค.2562) ดีขึ้น แม้ว่าบางบริษัทมีกำไรสุทธิลดลง แต่มาจากรายการพิเศษเท่านั้น แนวโน้มยังจะสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ออกหุ้นกู้ไว้พร้อมสำหรับการลงทุนในปี 2563 สวนทางภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 2% จังหวะหุ้นร่วงแรงตามภาวะตลาดหุ้นที่ผิดปกติ น่าจะเป็นโอกาสในการเลือกซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว
บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) โฮลดิ้งกลุ่มโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) เป็นเงินทั้งสิ้น 41,742 ล้านบาท ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,054.23 ล้านบาท พุ่งขึ้น 125.01% จากปีที่ผ่านมา โดย “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศแผน 5 ปี (2563-2567) ใช้เงินลงทุนมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) โตเฉลี่ยมากกว่า 15% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% จากการมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ทั้งจากการซื้อโครงการของกลุ่ม และมองหาโอกาสในการซื้อโครงการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 คณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) ได้อนุมัติให้เข้าลงทุนใน 3 โครงการคือ 1.โครงการเกทเวย์ เอกมัย 2.โครงการเอเชียทีค 2.2 และ3.โครงการอควาร์ทีคบายเดอะบีช
“ตามแผน 5 ปี AWC จะพัฒนาโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์มากกว่า 12 โครงการ เพิ่มห้องพักจำนวน 3,637 ห้อง เป็น 8,506 ห้อง และเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า เป็น 415,481 ตร.ม. จากปัจจุบันมีจำนวน 198,781 ตร.ม. แหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดปีละ 6,000 ล้านบาท และกำลังหารือกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) จัดหาเงินทุนสีเขียว (Green Financing) บริษัทกำลังพิจารณาออกหุ้นกู้กรีนบอนด์ในวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท สามารถก่อหนี้ได้จากที่มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.4 เท่าเท่านั้น “วัลลภากล่าว
กลุ่มสิริวัฒนภักดี ยังขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยอย่างรวดเร็ว ผ่านบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) ได้เพิ่มทุนแลกหุ้นกับบริษัท ไทยประกันภัย (TIC) และนำ SEG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2562 ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 304 ล้านบาท ลดลง 70.66% จากปี 2561 ที่ทำได้ 1,039.21 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทนสุทธิจากธุรกิจประกันภัยจำนวน 941 ล้านบาท จากการรับประกันภัยประเภทรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ และควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ลดลงจากปีก่อนจำนวน 218 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมลดลง 20.39% เหลือจำนวน 23,740 ล้านบาท
SEG ยังไม่หยุดเพียงการเข้าตลาดหุ้น ยังมีงานใหญ่ต้องทำคือจะต้องขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท อินทรประกันภัย(INSURE) ที่มีกลุ่มสิริวัฒนภักดีถือหุ้นใหญ่ 67.82% และต้องกระจายการถือหุ้นให้กับรายย่อย 7% ในช่วง 6 เดือนและ 15% ในช่วง 1 ปี แม้ว่าบริษัทอาคเนย์ แมเนจเม้นท์ ได้ขายหุ้น SEG จำนวน 3.6 ล้านหุ้นหรือ 0.48% ให้บริษัททีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) แล้วก็ไม่พอ ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียง 4.36% กลุ่มสิริวัฒนภักดีถือหุ้นใหญ่ถึง 95.84%
ทางออกของสองปัญหา คณะกรรมการบริษัทมีมติเพิ่มทุนจาก 7,520 ล้านบาท เป็น 12,033 ล้านบาท โดยออกหุ้นจำนวน 451,258,698 หุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท รวม
4,512 ล้านบาท แบ่งขายผู้ถือหุ้นเดิม 225,629,349 หุ้น สัดส่วนไม่เกิน 30% ประชาชนทั่วไป 150,419,566 หุ้นไม่เกิน 20% และบุคคลในวงจำกัด(PP) 75,209,783 หุ้น ไม่เกิน 10% หลังเพิ่มทุนสำเร็จ เชื่อว่าจะเกิดการรวมบริษัทประกันให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย สร้างความแข็งแกร่งของกิจการและสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีสินทรัพย์รวม 90,993 ล้านบาท เติบโต 3.98% หนี้สินรวม 75,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.86% และส่วนของผู้ถือหุ้น 15,231 ล้านบาท เติบโต 15.96%
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสิริวัฒนภักดีจัดโครงสร้างการถือหุ้นและธุรกิจเรียบร้อยแล้ว นำขบวนโดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT เข้าถือหุ้นใหญ่ถึง 95% ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) หลังจากซื้อหุ้นต่อจาก บริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) ทำให้พอร์ตของเฟรเซอร์สฯมั่นคง มีรายได้จากสามย่านมิตรทาวน์ ของ GOLD เสริมจุดแข็ง รายได้จากการขายและเช่าคลังสินค้า
อย่างไรก็ตามระหว่างการจัดบ้านใหม่ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนทางการเงินในการออกหุ้นกู้ในการขยายกิจการของบริษัทและ GOLD รวมถึง กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้(FTREIT) ลดลงจํานวน 889 ล้านบาท คงเหลือกำไรสุทธิ 282 ล้านบาท ในไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2562 เทียบกับกำไรสุทธิ 679 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
แต่ที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ UV โฮลดิ้งที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้น GOLD ได้กำไรก้อนใหญ่จากการขายหุ้นทั้งหมดก่อนช่วงขาลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นประมาณ 5,300 ล้านบาทไปลงทุนธุรกิจอะไร เพื่อเข้ามาทดแทนรายได้ที่หายไป 75% และกำไรวูบลง 81% ที่เคยได้จากแผ่นดินทองฯ
ผู้บริหาร UV เปิดเผยแผนเบื้องต้นว่า จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงธุรกิจที่ถนัด คือ อาคารสำนักงานย่านทองหล่อ ทำเลที่มีศักยภาพบนถนน หากมีความชัดเจน เชื่อว่าจะสามารถกอบกู้ราคาหุ้นที่ดำดิ่งลงไปเกือบ 50% เหลือเพียง 3 บาทต้นๆ จากที่เคยซื้อขายสูงกว่า 6 บาท เพราะหมดสิทธิรับเงินปันผลพิเศษ 1 บาท/หุ้น และกำไรสุทธิออกมาเพียง 35 ล้านบาท ห่างไกลจากกำไร 159 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปีก่อน แม้ว่ายังไม่มีธุรกิจใหม่ ผู้บริหารยืนยันว่ารายได้ทั้งปีจะทำได้ 6,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากนัก
นอกจากนี้ หุ้นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่เป็นโอกาสในการลงทุน เมื่อพิจารณาจากกำไรในปี 2562 จำนวน 7,278.38 ล้านบาท เติบโต 9.44% จากกำไรสุทธิ 6,649.97 ล้านบาทในปี 2561 แม้ว่าไตรมาส 4 ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาก บริษัทยังมีกำไรเพิ่มขึ้น 16.3% เป็น 2,473 ล้านบาท จุดแข็งจากโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลาย ตอนนี้รอฟังข่าวดี หาก BJC สามารถซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซียได้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของ BIGC และ BJC ในระยะยาว
นักลงทุนเห็นตัวเลขกำไรของบริษัทในกลุ่มสิริวัฒนภักดี และกลยุทธ์ในการเติบโตไปข้างหน้า น่าจะมองเห็นโอกาสในการเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแถมเงินปันผลติดพอร์ตไว้บ้าง