ทริสฯมอง MTC มีจุดแข็งเพียบ ผลงานที่ยาวนาน การตลาดกว้างขวาง การเติบโต และความสามารถในการทำกำไร ตั้งสำรองเพียงพอ ยอมรับธุรกิจแข่งขันสูง กฎเกณฑ์ใหม่ส่งผลกระทบ
บริษัท ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ระดับ “BBB”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังคำนึงถึงจุดแข็งต่าง ๆ ของบริษัทในเรื่องความสามารถในการทำกำไร การตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพียงพอ และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงยังมีกฎระเบียบใหม่สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และหลักปฏิบัติในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการได้อีกด้วย
บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายพื้นที่ทางการตลาดให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มจำนวนสาขาเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แถบชานเมืองและในระดับตำบลของจังหวัดต่าง ๆ ทำให้สาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 506 สาขา ณ สิ้นปี 2557 เป็น 2,638 สาขา ณ เดือนมี.ค. 2561
ในส่วนของสินเชื่อก็เติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกัน โดยเพิ่มจาก 7,448 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 35,623 ล้านบาทในปี 2560 อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 68.5% สินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นเป็น 38,012 ล้านบาท ณ เดือนมี.ค.2561 หรือเพิ่มขึ้น 6.7% จากสิ้นปี 2560
ณ เดือนมี.ค.2561 สินเชื่อที่มีรถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นหลักประกันยังคงเป็นสัดส่วนหลัก คิดเป็น 36.4% ตามมาด้วยสินเชื่อที่มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกใช้แล้วเป็นหลักประกัน (32.8%) และสินเชื่อที่มียานพาหนะทางการเกษตรเป็นหลักประกัน (4.7%) ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันคิดเป็น 9.0% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันและสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพหรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ด้วย ณ เดือนมี.ค.สินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็น 13.9% ของสินเชื่อคงค้าง ในขณะที่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คิดเป็น 3.2%
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายรายอันเป็นผลมาจากนโยบายอนุมัติสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพของบริษัท ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.1% ณ สิ้นปี 2559 เป็นระดับ 1.2% ณ สิ้นปี 2560 และ 1.3% ณ เดือนมีนาคม 2561
บริษัทตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอโดยมากกว่าเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถึง 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมี.ค. 2561 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 260.9% ซึ่งจัดอยู่ในระดับปานกลางแต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์
ความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็ง มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 544 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 2,501 ล้านบาทในปี 2560 ในขณะเดียวกับที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROA)เฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นจาก 7.4% ในปี 2557 เป็น 8.1% ในปี 2560 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 กำไรสุทธิ 834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.5% และ ROA 8.8%