HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต “แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์” เป็น “ลบ” จาก “คงที่” ผลงานต่ำกว่าคาดการณ์ ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว
บริษัท ทริส เรทติ้ง ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (LPN) ที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “ลบ” จาก “คงที่” ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว
ทั้งนี้ การที่รายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ในขณะที่ภาระหนี้เพิ่มขึ้นนั้นอาจส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทลดต่ำลงกว่าระดับ 10% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 12%-15%
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในตลาดคอนโดมิเนียมระดับราคาปานกลางถึงต่ำและการมีบริการหลังการขายที่ดี แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังคงต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทมีสินค้าที่ไม่หลากหลายทั้งในแง่ของประเภทและระดับราคา รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่เติบโตช้าลงจากผู้ซื้อบ้านชาวไทยและชาวต่างชาติ
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะลดต่ำลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 5.9 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ทริสเรทติ้งปรับการคาดการณ์รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลงเหลือ 9 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่ารายได้จากคอนโดมิเนียมจะยังคงชะลอตัวต่อไปอีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายบ้านจัดสรรจะสามารถชดเชยรายได้จากคอนโดมิเนียมได้บางส่วนเท่านั้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ยอดขายสุทธิของบริษัทลดเหลือเพียง 2.3 พันล้านบาทเนื่องจากบริษัทเปิดโครงการใหม่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลในภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ายอดขายสุทธิของบริษัทในปี 2562 จะเหลือเพียง 3-4 พันล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 1.39 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และ 1.13 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ยอดขายรอการรับรู้รายได้ (Backlog) ก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน
ณ เดือนก.ย.2562 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 7.1 พันล้านบาทซึ่งบริษัทคาดว่าจะส่งมอบสินค้าสำหรับยอดขายดังกล่าวที่มูลค่า 4.7 พันล้านบาทให้แก่ลูกค้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 และอีก 2.4 พันล้านบาทในปี 2563 ดังนั้น รายได้ของบริษัทในปี 2563-2564 จึงต้องพึ่งพาการขายสต๊อกคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และพึ่งพาการขายโครงการบ้านจัดสรรเปิดใหม่เป็นอย่างมาก
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 20%-21% ในช่วงปี 2558-2559 แต่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16%-18% ในช่วงปี 2560 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2562 อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 14%-15% ในช่วงปี 2558-2559 แต่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11%-12% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานที่ลดลงประกอบกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จาก 27% ในปี 2561 และ 18% ในปี 2560
ทั้งนี้ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและความต้องการในตลาดคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัวลงอาจทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ในช่วงปี 2562-2565 จากที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 12%-15%
อย่างไรก็ตามทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 5.4 พันล้านบาท ประกอบด้วยตั๋วแลกเงินระยะสั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น และโอเวอร์ดร๊าฟรวมกันจำนวน 5.3 พันล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้อีกจำนวน 0.1 พันล้านบาท โดยปกติบริษัทจะใช้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นสำหรับซื้อที่ดินเพื่อลดต้นทุนทางการเงินและใช้หุ้นกู้สำหรับเป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการพัฒนาโครงการ ในการนี้ บริษัทจะใช้วิธีต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นออกไปหรือจ่ายชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้า