HoonSmart.com>>บอร์ดก.ล.ต. เห็นชอบแนวทางเพิ่มการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ 4.1 ล้านล้านบาท เห็นความเสี่ยงสูงขึ้น หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง-ต่ำกว่าลงทุนได้กว่า 2 แสนล้าน อสังหาฯออกมากสุด ขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ป้องกันปัญหาก่อนลุกลาม ห้ามนักลงทุนบุคคลซื้อช่องทางขายวงจำกัด ยกระดับคนกลาง ผิดนัดชำระหนี้ต้องรีบแจ้งใน 1 วัน สรุปปีนี้จ่ายคืนไม่ได้แล้ว 1,512 ล้านบาท ก่อนประกาศใช้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และลดจุดเปราะบางในระบบนิเวศ หลังจากเห็นข้อมูลการออกตราสารหนี้ของเอกชนเติบโตเกือบ 3 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากในปี 2553 มีมูลค่าคงค้างจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท สัดส่วน 13% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 4.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 24% ของจีดีพีในเดือนพ.ค. 2562
ตราสารหนี้คงค้างเหล่านี้ไม่มีเรทติ้ง 5% และต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ 1% รวม 6% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 234,130 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนมีความเสี่ยงด้านฐานะ เพราะไม่ต้องยื่นไฟลิ่ง ขณะเดียวกันบริษัทที่ออกยังกระจุกตัวในบริษัทอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด 146,609 ล้านบาท ขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์สูงถึง 87% ให้กับนักลงทุนรายย่อยจำนวน 26,891 ล้านบาท สัดส่วน 11%
จากการสำรวจข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ที่เสนอขายตราสารหนี้ พบว่าลูกค้ารายบุคคลส่วนใหญ่มีอายุ 55-60 ปี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย การขายโดยไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ทำให้นักลงทุนขาดข้อมูล และข้อมูลการประกอบการตัดสินใจก็เข้าใจยาก แถมงบการเงินของบล.ยังมีความล่าช้า
ทางสำนักงานเสนอว่าควรยกระดับการกำกับดูแล เช่น การห้ามนักลงทุนรายบุคคลซื้อตราสารหนี้ในการเสนอขายวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย (PP10) ซึ่งไม่ต้องยื่นไฟลิ่ง ขาดข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจ ที่ผ่านมาถูกใช้เป็นช่องทางหลักในการขายตราสารเสี่ยงต่อผู้ลงทุนจำนวน 252 ราย มูลค่ามากที่สุด 126,884 ล้านบาท หรือสัดส่วน 54% แบ่งเป็นรายย่อย จำนวน 10,825 ล้านบาท สัดส่วน 9% ผู้ลงทุนวงใน 49% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 62,111 ล้านบาท ข้อมูล ณ เดือนพ.ค. 2562
นอกจากนี้ยังยกระดับคุณภาพตัวกลางที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เพื่อให้ข้อมูลที่ผู้ลงทุนได้รับถูกต้องเพียงพอเข้าใจได้ เช่น เพิ่มรอบการส่งงบการเงิน จากเดิมที่ส่งปีละ 1 ครั้ง ปรับเป็น ทุก 6 เดือน มาตรฐานการขายและการดูแลกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ ก็เพิ่มกลไกจัดการ เช่น กำหนดระยะเวลาชัดเจนคือไม่เกิน 1 วัน ที่ผู้ออกตราสารหนี้และนายทะเบียนต้องรายงานการผิดนัดชำระหนี้ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทราบ ว่า บริษัทกำลังมีคดีฟ้องร้องหรือปรับโครงสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค รวมถึงต้องส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นกู้ภายใน 1 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ร้องขอ ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ผู้ลงทุนในการรักษาสิทธิ ดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงการฟ้องร้องบังคับคดี โดยยกระดับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย
สำหรับตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ในปี 2562 เกิดขึ้นในเดือนมกราคม จำนวน 2 บริษัท คือ PMART และบริษัท โอพีจีเทค (OPGT) มูลค่า 230 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ มี 2 บริษัท PMART และบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) เป็นเงิน 160 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคม บริษัท พีพี ไพร์ม(PPPM) ผิดนัดมูลค่า 1,122 ล้านบาท รวม 1,512 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท PMART และ OPGT เป็น 2 ใน 7 บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ในปี 2561 รวมมูลค่า 2,564 ล้านบาท ปี 2560 ผิดนัดจำนวน 4 บริษัท เป็นเงิน 9,323 ล้านบาท และปี 2559 รวม 4 บริษัทผิดนัดชำระหนี้ 5,890 ล้านบาท
ก่อนประกาศใช้แนวทางกำกับดูแลตราสารหนี้ที่ปรับปรุงใหม่ ก.ล.ต.จะพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและให้ระยะเวลาในการปรับตัว โดยคำนึงถึงความสามารถในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางระดมทุนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ