ยื่นขอบีโอไอไตรมาสแรกโต 200%ทะลุ2แสนล้าน

บีโอไอเผยไตรมาสแรกปีนี้ ยอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 2.05 แสนล้านบาท โต 200% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ “ประยุทธ์” สั่งบีโอไอเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ลงทุนเทคโนโลยีในเขต EECi-EECd ให้เว้นภาษีได้ 13 ปี

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (9 พ.ค.) ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 366 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27% ส่วนมูลค่าการลงทุน อยู่ที่ 2.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ บีโอไอตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 7.2 แสนล้านบาท จากปี 2560 ที่มียอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,456 โครงการ มูลค่า 6.41 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2.96 แสนล้านบาท

สำหรับการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ 3.77 หมื่นล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน 1 โครงการ 4,500 ล้านบาท กิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 2 โครงการ เงินลงทุนโครงการแรก 4,097 ล้านบาท และโครงการที่สอง 4,589 ล้านบาท กิจการผลิตเม็ดพลาสติก POLYPROPYLENE 1.22 หมื่นล้านบาท กิจการขนส่งทางท่อ 9,500 ล้านบาท และกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ 2,840 ล้านบาท

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้มีมติเห็นชอบให้บีโอไอไปปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่ 1. หากลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี

และ 2. หากลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) นอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 12 ปี

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้ระบบอัจฉริยะ พร้อมเปิดส่งเสริมกิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยและต่างด้าวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายเวลาการให้ส่งเสริมใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ออกไปสิ้นสุดในปี 2563