HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเฟดลดดอกเบี้ยหนุนราคาทองคำราคาพุ่ง ดันยอดส่งออกเพิ่ม ท่องเที่ยวยังคึกคัก คงจีดีพีโต 2.6% แนะลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ทองคำ พันธบัตร รับอัตราดอกเบี้ยขาลงเลี่ยงความผันผวน จับตาผลกระทบน้ำท่วม สหรัฐฯกีดกันการค้าจีน ค่าแรง กระทบอุตสาหกรรมไทย หวั่นยานยนต์ไฟฟ้าล้นตลาด
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาตร์และช่วงดอกเบี้ยขาลง”ว่า ยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ แต่ไม่รวมความเสียหายที่จะเกิดจากน้ำท่วม จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น การส่งออกยังดี ช่วงที่เหลือของปีให้จับตาผลกระทบเฉพาะหน้าจากปัญหาน้ำท่วมที่คาดว่าจะทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายถึง 2 หมื่นล้านบาท และถ้ามีการท่วมในภาคกลางด้วย ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ด้านไทย คาดว่า กนง.จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จะยังอยู่ที่ 2.5% จะมีช่องว่างประมาณ 3% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงเริ่มจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับลดดอกเบี้ยลง ทางเฟดได้ลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ทำให้ทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับตัวลดลง เป็นการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ประเทศใหญ่ๆ กำลังเชผิญกับเสรษฐกิจชะลอตัว โดยจีน มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 8 ปีในการแก้ไข โดยรัฐพยายามที่จะจัดสรรเงินให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ 48 ล้านยูนิต ที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตกด้วย
สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนียังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
จากอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง จะพยุงราคาสินทรัพย์ทั่วโลกไว้ได้ โดยเฉพาะหุ้นและทองคำ และพยุงเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่งสัญญาชะลอตัว เศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งสัญญาเปราะบาง เอาไว้ได้ในระยะต่อไป
ด้าน เศรษฐกิจไทย สงครามภูมิรัฐศาตร์ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าการลงทุนของภูมิภาค การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือนพ.ย.นี้จะชี้ชัดถึงทิศทางนโยบายการค้าโลก แต่คิดว่าไทยและภูมิภาคนี้จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาและจะมีการดำเนินต่อไป มองว่าไทยต้องหาจังหวะและโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนให้ได้มากที่สุด
ส่วนภาคการผลิตของไทย กำลังเผชิญกับแรงแข่งขันจากสินค้าจีนและการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่จะกระทบฐานการผลิตของไทย ผู้ประกอบการไทยต้องปรับให้ทันกันการแข่งขันของโลก
ในช่วงที่ผ่านมา หลังมีทิศทางดอกเบี้ยลง เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้บาทแข็งขึ้น 6-7% กดดันเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จากการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะสนับสนุนราคาสินทรัพย์อย่างทองคำ ทำให้ค่าบาทปรับแข็งค่าขึ้น แต่จากการที่ไทยเผชิญหนี้ครัวเรือนสูง เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไข และที่ผ่านมามีความชัดเจนการเมือง ภาคส่งออกยังดี แม้จะเจอกับปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังโตได้ 2.6%
ทั้งนี้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยขาลง ธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่ได้มากเพราะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สงครามทางการค้า เงินดอลลาร์จะอ่อน จะหนุนสินทรัพย์ปลอดภัยในกลุ่ม พันธบัตรรัฐบาล หุ้นปันผล หุ้นต่างประเทศในช่วงจังหวะดีๆ กองทุน
หนี้ครัวเรือนสูง-สินเชื่อโตต่ำ 3 ปี
น.ส:ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ ความไม่สงบทางการเมืองในโลกยังคงอยู่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในทิศทางขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย
ทั้งนี้ ภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะอยู่ประมาณ 90% ของจีดีพีต่อไปอีก 3 ปี ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ต่ำลง คาดว่าสินเชื่อปีนี้จะโต 1.5% และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะติดลบ 5% ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นลูกหนี้พบว่า ลูกหนี้ที่มีบ้านและรถ กว่า 50% มีปัญหาการจ่ายหนี้ และเคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว โดยเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินออมต่ำไม่ถึง 14% แต่มีภาระหนี้ถึง 40.2% และมีการกู้หนี้นอกระบบ 8.2%
ปรับตัวเลขส่งออกเป็น 2.5% จาก 1.5%
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 2.6% โดยไม่ได้รวมความเสียหายที่จะเกิดจากน้ำท่วม เศรษฐกิจประเทศหลักๆ ของโลกหากมีการชะลอตัวลง และอุปสงค์ภายในประเทศที่อาจชะลอตัวลง และค่าเงินบาท ที่จะต้องติดตาม แต่ได้ปรับตัวเลขการส่งออกปีนี้จาก เดิม 1.5% ขึ้นเป็น 2.5% จากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น แต่จะยังคงขาดดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 3
ทั้งนี้ ไทยเจอปัญหาจากต่างประเทศ ขณะที่ภายในประเทศมีปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และยังขาดความสามารถด้านการแข่งขัน ที่แก้ไม่ได้ภายในปีสองปี และในระยะสั้นเจอความอ่อนแอของกำลังซื้อของประชาชน
ขณะที่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน ไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก การที่จีนถูกสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้า และลดการค้าขายกับจีนลง สหรัฐฯได้หันไปนำเข้าจากแม็กซิโกเป็นอันดับ 1 แทนจีน ทำให้จีนเพิ่มการส่งออกเข้ามายังฝั่งอาเซียนสูงสุดอันดับ 1 จากเดิมที่ส่งออกไปสหรัฐอันดับ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยก็เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจีนมีการเชื่อมห่วงโซ่การผลิตกับประเทศที่ 3 เพื่อเข้าไปในตลาดสหรัฐ
สิ่งที่ต้องจับตาครั้งต่อไป คือ การที่สหรัฐฯจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีน 60% ที่เรียกว่าสงครามการค้า 2.0 จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาปีหน้าขึ้นมาอยู่ประมาณ 3% และเฟดลดดอกเบี้ย นโยบายการเงินอยู่ในช่วงผ่อนคลาย จะสร้างความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ และจะทำให้การย้ายฐานผลิตจากจีนอีกระรอก และจากการที่ไทยมีการส่งออกโซล่าร์เซลไปสหรัฐฯสูงสุด ซึ่งอยู่ในช่วงการพิจารณาการทุ่มตลาด อาจทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก
หวั่นรถยนต์ไฟฟ้าล้นตลาด
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็น ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่ล้นเกิน เพราะยากจะหวังพึ่งการส่งออกและตลาดในประเทศคงไม่โตได้มากเท่าที่คาด มีสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด และยังอยู่ท่ามกลางปัญหา ได้แก่ 1.น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและภาคใต้ 2.บาทผันผวนสูง 3.การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ 4.ต้นทุนเพิ่มโดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง กระทบเกษตร การผลิต และบริการ หลักๆ คือ SMEs สำหรับภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว