ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม (ตอนที่ 2)

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

to distill the secret to sound investment into three word, we venture the motto “MARGIN OF SAFETY”

เบนจามิน เกรแฮม “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ได้เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสรุปแนวทางการลงทุนให้เหลือแค่ 3 คำ ก็ต้องเป็น “MARGIN OF SAFETY”

Margin of Safety หรือ MOS คือ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจึงเลือกลงทุนในจุดที่ MARGIN OF SAFETY สูง เช่น วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือเข้าซื้อในจุดที่มีความปลอดภัย เสี่ยงต่ำด้วยปัจจัยเทคนิค เป็นต้น

เบี้ยประกัน คือ ค่าใช้จ่ายที่เราจ่าย ความคุ้มครองและผลประโยชน์จากกรมธรรม์ คือ สิ่งที่เราได้ เหมือนการลงทุน ราคา คือ สิ่งที่เราจ่าย มูลค่า คือ สิ่งที่เราได้ การลงทุนเราจึงเลือกลงทุนที่ราคาต่ำกว่ามูลค่ามาก ประกันก็เหมือนกัน เราก็ควรเลือกซื้อในจุดที่เบี้ยประกันต่ำเช่นกัน

ปัจจัยความเสี่ยงในการพิจารณาเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

1. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ
2. ความเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ

ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ พูดไปครั้งที่แล้ว วันนี้พูดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ แต่มีผลต่อการพิจารณาการรับประกันและอัตราเบี้ยประกันชีวิต สามารถแบ่งได้เป็นความเสี่ยงหลักๆ 2 อย่างคือ

1. ความเสี่ยงทางด้านการเงิน
2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล

ความเสี่ยงทางด้านการเงิน

จุดประสงค์หลักของการทำประกันชีวิตก็คือการคุ้มครองภาระทางการเงินหลังจากที่ผู้เอาประกันได้เสียชีวิตลง หรือชดเชยรายได้ในกรณีทุพพลภาพ สถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยจึงเป็นตัวกำหนดความจำเป็น,ความเหมาะสมในการทำประกัน และความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน หากผู้เอาประกันเป็นผู้มีรายได้สูง ครอบครองทรัพย์สินมูลค่าสูง ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมก็จะสูงด้วย เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจจะเสียไปในกรณีทุพพลภาพและครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ แต่หากผู้เอาประกันเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง ความต้องการในการชดเชยรายได้และคุ้มครองทรัพย์สินก็จะลดหลั่นลงมา

ขณะเดียวกันทุนประกันที่สูงก็จะต้องแลกมาด้วยเบี้ยประกันที่สูง ดังนั้นความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ตลอดอายุสัญญาของผู้เอาประกันก็เป็นอีกปัจจัยในการพิจารณา ความเสี่ยงด้านการเงินที่เกี่ยวกับความสามารถในการชำระเบี้ย ก็จะประเมินจากอาชีพ,อายุและรายได้ของผู้เอาประกัน ซึ่งโดยปกติแล้วบริษัทประกันจะอนุมัติการทำประกันด้วยทุนประกันที่มีอัตราเบี้ยประกันไม่เกิน 15-20% ของรายได้ต่อปีของผู้เอาประกันภัย(รวมทุกกรมธรรม์ ทุกบริษัท)

ความเสี่ยงส่วนบุคคล

เมื่อบริษัทประกันรับโอนความเสี่ยงจากผู้เอาประกัน ดังนั้นความเสี่ยงส่วนบุคคล เช่น อาชีพ งานอดิเรก ฯลฯ จึงเป็นอีกปัจจัยที่นำมาพิจารณา หากอาชีพเรามีความเสี่ยงสูง เช่น ขับวินมอเตอร์ไซท์ เบี้ยประกันก็จะสูงกว่าคนนั่งทำงานในสำนักงานซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า งานอดิเรกและกีฬาที่ทำหรือเล่นเป็นประจำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ต่อยมวย,แข่งรถ, ฯลฯ เพิ่มความเสี่ยงส่วนบุคคล อาจทำให้เบี้ยประกันเพิ่ม หรือในบางกรณีอาจจะถึงขั้นไม่สามารถทำประกันที่เป็นความคุ้มครองเพิ่มเติมในแบบต่างๆได้เลยด้วยซ้ำ

กล่าวโดยสรุป เบี้ยประกันเราจะจ่ายแพงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของเราที่บริษัทประกันต้องรับความเสี่ยงแทนเรา หากระดับความเสี่ยงเราสูง เบี้ยประกันก็จะสูง โดยระดับความเสี่ยงของเรา ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ ความเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว การตัดสินเลือกซื้อประกันชีวิตยิ่งช้า อายุยิ่งมาก (ยิ่งทำเกินวันเกิดแค่วันเดียว เบี้ยอาจปรับสูงขึ้นหลายบาท) ทำให้ภาระเบี้ยที่จ่ายแพงขึ้นตลอดอายุกรมธรรม์ และปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุ ก็อาจส่งผลต่อเบี้ยหรือการพิจารณารับประกันได้ด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น การพิจารณาเวนคืนกรมธรรม์เก่าเพื่อซื้อกรมธรรม์ใหม่ ก็อาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ จากเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้
 
 
อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม
ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน
ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน