คอลัมน์ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

แม้ว่าวิกฤติโควิดจะกระทบต่อเศรษฐกิจและหลายๆธุรกิจก็ตาม แต่ก็กลับเป็นโอกาสสำหรับหลายๆธุรกิจเช่นกัน อย่างเช่น ธุรกิจ online เป็นต้น และเนื่องจากวิกฤติโควิดคือสึนามิของความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเช่น ธุรกิจประกันก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แม้ว่าในส่วนของธุรกิจประกันภัยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากประกัน “เจอ จ่าย จบ” จนหลายบริษัทต้องประสบปัญหาขาดทุน บางบริษัทถึงกลับต้องปิดกิจการ ก็เพราะมาจากการที่ประกัน “เจอ จ่าย จบ” ได้รับความนิยมอย่างมากเกินคาดหมาย แต่ความเสียหายก็มากเกินคาดหมายเช่นกัน

และในส่วนของประกันชีวิตก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2564 (มกราคม – กันยายน ) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 439,181.91 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 123,132.24 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 316,049.67 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81 โดยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้แก่

• ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Link) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 34,525 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 88.86 เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ครบทุกช่วงวัยทั้งเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนและให้ความคุ้มครองประกันชีวิต

• ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ (Health) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 58,960 บาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.28 และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง (CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 11,428 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.53 เพราะค่ารักษาพยาบาลที่แพงและมีแนวโน้มแพงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลจากวิกฤติโควิดทำให้คนเห็นความสำคัญของประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะช่วงเตียงโรงพยาบาลขาดแคลน และบางโรงพยาบาลเอกชนไม่รับผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีประกันสุขภาพ)

• ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,424 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37 เพราะสอดรับกับทิศทางการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย และโควิดก็คือ การซ้อมเกษียณดีๆนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีงานทำ มีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ จึงทำให้คนไทยตระหนักถึงความเสี่ยงของวัยเกษียณมากขึ้น

แม้เวลาซื้อประกัน เราจะเลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์ชีวิตเรามากที่สุดก็ตาม แต่หลายๆครั้งเบี้ยประกันที่จ่ายก็สูงมากจนต้องกลับมานั่งคิดว่า “คุ้มมั๊ย” ระหว่างประโยชน์ที่ได้ กับ เบี้ยประกันจ่าย

หลักในการพิจารณา ดังนี้

1. ซื้อเพื่ออะไร หลายคนซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีจึงซื้อไม่เกิน 100,000 บาท จริงๆแล้ว ประกันชีวิตควรซื้อเพื่อการบริหารความเสี่ยง เราจึงควรซื้อเพื่อบริหารความเสี่ยงที่สิ่งที่คาดหวังไม่เป็นจริง เช่น คาดหวังชีวิตเกษียณที่ดี คาดหวังการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัว ฯลฯ

2. เลือกซื้อประกันชีวิตแบบที่ตรงกับที่เราต้องการ ประกันชีวิตแต่ละแบบเหมาะกับแต่ละเป้าหมายต่างๆกัน อย่างเช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เหมาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการออมเงิน ประกันแบบคุ้มครองตลอดชีพหรือแบบกำหนดระยะเวลาเหมาะสำหรับการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

3. ซื้อที่ทุนประกันตรงกับที่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น หากเรากู้หนี้แบงค์ซื้อบ้าน 2 ล้านบาท เราก็ควรซื้อประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองทุน 2 ล้านบาท เพื่อว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยังรักษาบ้านให้ครอบครัวเราได้

4. เลือกค่าเบี้ยประกัน ระยะเวลาคุ้มครองและระยะเวลาจ่ายเบี้ยที่เหมาะสมกับเรา ประกันชีวิตเป็นสัญญาที่ผูกมัดให้เราต้องชำระเบี้ยตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด …

5. ดูความมั่นคงของบริษัทประกัน เคยเห็นตัวแทนประกันชีวิตบางคนแนะนำลูกค้าว่าให้ซื้อประกันกับบริษัทคนไทย เพราะไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่หนีไปไหนเหมือนที่เคยเกิดในอดีตกับบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ แต่กรณีประกัน “เจอ จ่าย จบ”ที่มีข่าวบริษัทประกันบางแห่งยื่นฟ้อง เลขา คปภ. ชี้ขาดคดีพิพาท คำสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด – 19 เจอจ่ายจบ ทำให้การซื้อประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่กลับเจอความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเสี่ยงที่จะถูกบริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์ ก็เป็นไปได้

จะเห็นได้ว่าแม้ประกันชีวิตจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนซื้อ เพราะประกันเป็นสัญญาที่ผูกมัดผู้ทำประกันตลอดอายุสัญญา โดยเฉพาะเบี้ยประกันที่จ่าย เราจึงต้องพิจารณาเบี้ยที่จ่ายว่าไหวมั๊ย คุ้มมั๊ย เพราะไม่ได้จ่ายแค่ครั้งเดียว แต่จ่ายต่อเนื่องตลอดสัญญา หากเราจ่ายไม่ไหว้ หรือพิจารณาแล้วไม่คุ้ม การยกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนกรมธรรม์ มีข้อเสียมากกว่ามาก

จะจ่ายเบี้ยไหวหรือไม่ เราก็ลองมาดูว่าจะลดภาระเบี้ยที่จ่ายได้อย่างไรบ้าง เราก็ต้องพิจารณาดูปัจจัยที่มีผลกระทบอัตราเบี้ยประกัน

เบี้ยประกันคือเงินที่ผู้เอาประกันภัยจ่ายให้บริษัทประกันเพื่อซื้อความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน ดังนั้นมองในมุมบริษัทประกันก็อยากได้เบี้ยมากที่สุดอย่างน้อยต้องคุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องจ่ายสินไหมเมื่อเกิดเหตุ

ดังนั้นเบี้ยประกันจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและระดับของความคุ้มครองที่แต่ละคนต้องการ

ปัจจัยความเสี่ยงในการพิจารณาเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

1.ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ
2.ความเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ

ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพในขณะที่สมัครทำประกันชีวิตประกอบกับปัฟๆจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะช่วยบอกแนวโน้มและความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันภัยในอนาคตด้วย

โดยปกติแล้วสิ่งที่จะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันชีวิตก็คือ

1.อายุ โดยปกติแล้วในแง่ของการประกันชีวิต จะแบ่งช่วงอายุของผู้เอาประกันเป็น 4 ช่วง คือ วัยเด็ก,วัยหนุ่มสาว,วัยกลางคนและวัยชรา

• วัยเด็กคือช่วงอายุตั้งแต่ 0-15 ปี ช่วงวัยนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการเรียกร้องเคลมค่าสินไหมทดแทนบ่อยครั้ง เพราะเด็กมักจะไม่สบายและไปใช้บริการการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยๆ
• วัยหนุ่มสาวคือช่วงอายุตั้งแต่ 16-40 ปี เป็นช่วงวัยที่ไม่ค่อยมีปัญหาด้านสุขภาพ มีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรักษาพยาบาลน้อย
• วัยกลางคน คือช่วงอายุตั้งแต่ 41-60 ปี เบี้ยประกันมักจะสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะร่างกายคนเรามักจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
• วัยชรา คือช่วงอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันของผู้เอาประกันในวัยชรามีราคาแพงก็เพราะว่าบริษัทประกันจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของผู้เอาประกันในกลุ่มนี้และอาจจะมีเหตุจูงใจในการสมัครทำประกันชีวิตบางอย่างที่บริษัทผู้รับประกันไม่อาจทราบได้

2.เพศ จากสถิติพบว่าเพศชายจะมีอัตราการตายมากกว่าเพศหญิง แต่ผู้หญิงจะมีอัตราการเจ็บป่วยมากกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาเบี้ยประกันแตกต่างกันได้

3.ส่วนสูง,น้ำหนัก จะใช้ตัวเลข BMI เป็นตัวชี้วัด ซึ่งค่า BMI (Body Mass Index) มาตรฐานจะอยู่ที่ 20-25 ถ้าใครมีตัวเลข BMI อยู่ในช่วงนี้ก็ถือว่าอยู่ในค่ามาตรฐานไม่อ้วนและไม่ผอมเกินไป

4.ประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันภัย

5.ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว เพราะโรคบางโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จึงเป็นปัจจัยที่กำหนดสภาวะสุขภาพของคนเราด้วย

6.ความบกพร่องของสุขภาพที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ,ความเจ็บป่วย หรือเป็นมาแต่กำเนิด ความผิดปกติเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนที่สำคัญ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการได้ในอนาคต

7.พฤติกรรมการเสพสารเสพติดและการดื่มสุรา เพิ่มความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยต้องรับไว้ ซึ่งก็อาจจะทำให้ราคาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น

ครั้งหน้า เรามาคุยกันต่อนะเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพที่มีผลต่อเบี้ยประกัน

ขอบคุณ ที่มา https://www.livewithoutpay.com/personal-finance/insurance/what-is-insurance-premium/

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน
ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน