จุฬาฯตีค่าแบรนด์ GULF 2.45 แสนลบ.ปี64 AOTสูงสุด 7.68 แสนล. ลดลง1.2 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>หลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแจกรางวัลให้แก่บริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในแต่ละอุตสาหกรรมประจำปี 2564 มีทั้งสิ้น 14 บริษัท โดยอันดับหนึ่งของหลายธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีมูลค่าแบรนด์ 245,358 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด 137,032 ล้านบาท

ธุรกิจธนาคาร บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด 32,207 ล้านบาท เทียบกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่มีมูลค่าแบรนด์ถึง 86,999 ล้านบาท ในปี 2563

ธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มีมูลค่าแบรนด์ 105,052 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน คือบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) มีมูลค่าแบรนด์ 57,060 ล้านบาท

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท โอสถสภา (OSP) มีมูลค่าแบรนด์ 77,218 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนหน้าเป็นของบริษัทคาราบาวกรุ๊ป (CBG) มูลค่า 56,462 ล้านบาท กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA มีมูลค่าแบรนด์ 56,048 ล้านบาท เทียบกับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) มีมูลค่าแบรนด์ 38,121 ล้านบาทในปี 2563

ธุรกิจประกันเคยเป็นของบริษัท ทิพยประกันภัย มูลค่า 5,796 ล้านบาท ปี 2564 ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) มูลค่า 20,031 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอื่นๆ อันดับหนึ่งยังคงรักษาตำแหน่งเหนียวแน่น แม้ว่าจะมีมูลค่าแบรนด์ลดลงก็ตาม เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) มีมูลค่าสูงสุด 45,040 ล้านบาท แต่ลดลงมากถึง 19,713 ล้านบาท คิดเป็น 30.44% เทียบกับมูลค่า 64,753 ล้านบาทในปี 2563 รักษาตำแหน่งแชมป์เป็นที่ 3 ติดต่อกัน ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ บริษัทเคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) มีมูลค่าแบรนด์ 20,248 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน มูลค่า 5,299 ล้านบาท คิดเป็น 20.74% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามีมูลค่า 25,547 ล้านบาท

กลุ่มการแพทย์ ได้แก่ บริษัทโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) มีมูลค่าแบรนด์ 20,416 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนมีมูลค่า 20,749 ล้านบาท

ในทางกลับกัน มูลค่าแบรนด์ของหลายบริษัทเพิ่มขึ้น  อาทิ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มีมูลค่าแบรนด์ถึง 101,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,133 ล้านบาทหรือ 9.85% จากมูลค่า 92,733 ล้านบาท ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ยังคงเป็นของบริษัท วีจีไอ (VGI) มูลค่า 56,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,847 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 11.53% ของปีก่อนมูลค่า 50,697 ล้านบาท นอกจากนี้มีการมอบรางวัลให้กับกลุ่มพาณิชย์ ได้แก่ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) มีมูลค่าแบรนด์ 157,036 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ยังคงมีมูลค่าแบรนด์สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งตามเกณฑ์ ได้รับเข้าหอเกียรติยศ Thailand’s Top Corporate Brand Hall of Fame  ซึ่งในปี 2564 ได้มอบรางวัลให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มีมูลค่าแบรนด์ 34,877 ล้านบาท

รางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรของอาเซียน มี 6 บริษัท จาก 6 ประเทศ ประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศไทย (AOT) มีมูลค่าแบรนด์ มูลค่า 25,426 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น  768,051  ล้านบาท ลดลง 11,949  ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่า  26,108 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท ประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ Thai Beverage ประเทศอินโดนีเซีย Bank Central Asia ประเทศมาเลเซีย Public Bank  และ SM Prime Holdings ประเทศฟิลิปปินส์

สำหรับ Thai Beverage Public Company Limited เป็นบริษัทของคนไทยที่ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2549 มีมูลค่าแบรนด์องค์กร 357,077 ล้านบาท

ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ และ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างเครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร CBS Valuation ตั้งแต่ปี 2553 เปิดเผยว่า  ปี  2564 แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่คณะผู้วิจัยยังคงทำวิจัยมูลค่าแบรนด์องค์กรของบริษัทจดทะเบียนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารของภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแบรนด์องค์กรเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของบริษัทในระยะยาว

ทั้งนี้การวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรได้นำตัวเลขจากงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาคำนวณ ใช้ค่าเฉลี่ยเวลา 3 ปี โดยได้บูรณาการแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี เพื่อให้สามารถคำนวณมูลค่าแบรนด์องค์กรออกมาได้เป็นตัวเลขทางการเงินโดยไม่มีความลำเอียง