HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ลดอันดับเครดิต “ฐิติกร” (TK) เป็น BBB+ จาก A- สะท้อนสถานะทางการตลาดที่ถดถอยลงในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อรวมหดตัวต่อเนื่อง ผลกระทบโควิด-19 ด้านฐานทุนยังแข็งแกร่ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ฐิติกร (TK) เป็นระดับ BBB+ จากระดับ A- พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น คงที่ จาก ลบ สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่ถดถอยลงในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักภายในประเทศของบริษัท ในขณะที่อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการรักษาการทำกำไรที่ดี และสภาพคล่องที่เข้มแข็งของบริษัทเช่นเดิม
ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัท คือ คุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่อาจจะลดลงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ในขณะเดียวกัน การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศที่อาจส่งผลกดดันต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตรารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของบริษัทในระยะปานกลางอีกด้วย
การปรับลดอันดับเครดิตมีสาเหตุหลักมาจากการอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของสถานะทางการตลาดและฐานลูกค้าภายในประเทศของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อรวมของบริษัทยังคงหดตัวลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยปรับลดลง 37% เหลือ 5.2 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับในช่วงสิ้นปีก่อน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 สินเชื่อรวมของบริษัทยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 4.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังของบริษัทในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยจะเป็นความท้าทายของบริษัทในการที่จะฟื้นสถานะทางการตลาดให้กลับมาได้ในปีนี้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถเติบโตอีกครั้งได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีสถานะทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่งอีกหลายๆ แห่งเมื่อพิจารณาในแง่ของการกระจายตัวของธุรกิจ กล่าวคือ บริษัทมีสินเชื่อที่มีการกระจายตัวที่ดีในแง่ภูมิศาสตร์โดยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตลอดจนถึงประเทศในกลุ่ม CLMV บางประเทศ เช่น ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศคิดเป็น 21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของบริษัท ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% จากสิ้นปี 2562 แม้ว่าสินเชื่อในต่างประเทศจะหดตัวลงที่ระดับ 15% ในปี 2563 เหลือ 1.1 พันล้านบาทอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ตาม
การที่บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ยังคงเป็นจุดแข็งด้านเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งประเมินฐานทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 56.1% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.5% ณ สิ้นปี 2562 ฐานทุนที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สินเชื่อของบริษัทปรับตัวลดลงและผนวกกับกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวลดลงในอนาคตหากบริษัทเริ่มกลับมาขยายฐานสินเชื่ออีกครั้ง
ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่มีความแข็งแกร่งของบริษัทจะช่วยรองรับค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะเดียวกัน ระดับการก่อหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.37 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 0.72 เท่า ณ สิ้นปี 2562 จากการให้สินเชื่อของบริษัทที่ใช้ส่วนทุนเป็นหลัก
ในระยะปานกลางทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของบริษัทเมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทมีแผนขยายธุรกิจภายในประเทศที่ระมัดระวังอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อในต่างประเทศจะมีสัดส่วนประมาณ 30% ของสินเชื่อรวมของบริษัทภายในปี 2566 โดยที่สินเชื่อในประเทศจะยังคงเป็นสินเชื่อหลักของบริษัท สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 21% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 18% และ 10% ณ สิ้นปี 2562 และปี 2561 ตามลำดับ โดย 17% มาจากลูกค้าในประเทศกัมพูชาและ 4% มาจาก สปป. ลาว
ข้อดีของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV คือ การแข่งขันและความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 90 วัน) ของบริษัทลูกในต่างประเทศเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2562 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทลูกในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2563 จาก 2.8% และ 0.7% ในปี 2562 และปี 2561 ตามลำดับเมื่อเทียบกับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ภายในประเทศที่ระดับ 10.5% ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และแม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่บริษัทลูกในต่างประเทศของบริษัทก็ยังสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ค่อนข้างดี
นอกจากนี้การมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากแผนการขยายสินเชื่อแบบระมัดระวังของบริษัท โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดในมืออยู่ที่ 2 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2561 ที่บริษัทมีเงินสดในมือเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 100-200 ล้านบาท
บริษัทค่อนข้างมีการพึ่งพาเงินทุนระยะยาวมากกว่าคู่แข่ง แต่จากการที่ธุรกิจชะลอตัวลงจึงทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ ในปี 2563 สัดส่วนโครงสร้างเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยหนี้สินระยะยาวจำนวน 7% หนี้สินระยะสั้นจำนวน 15% ซึ่งจากสัดส่วนของหนี้สินระยะสั้นนี้เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีที่ระดับ 13% และส่วนที่เหลือเป็นส่วนทุนที่ระดับ 78%
ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีส่วนต่างของระยะเวลา (duration gap) ระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินเป็นบวก ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างดังกล่าวจะยังคงเป็นบวกต่อไปในอีกใน 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับสุทธิจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 160 ล้านบาทต่อเดือนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทแม้จะอ่อนแอแต่ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับของคู่แข่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9.2% จาก 4.5% ในปี 2562 ซึ่งเกิดจากปัจจัย 2 ประการคือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ถดถอยลงจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงต้นปี 2563 และสินเชื่อรวมของบริษัทที่หดตัวลง อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง โดยในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 10% ในอดีตซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวัง
ในปี 2563 อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทลดลงเหลือ 9.6% จากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 10% ในระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมีการตั้งสำรองจำนวนมากไว้แล้วในปี 2562 เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่เริ่มใช้ในปี 2563 รวมไปถึงสินเชื่อรวมของบริษัทที่ปรับลดลงในปี 2563 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 7.4% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอัตราที่ลดลง
ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 130.4% จาก 118.3% ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่การที่สภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงที่ถดถอยเป็นเวลานานก็อาจจะส่งผลกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทและต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้อันเนื่องมาจากต้นทุนด้านเครดิตที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปรับตัวลดลงถึง 11.8% ในปี 2563 ซึ่งส่งผลทำให้สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้ง 9 รายในฐานข้อมูลทริสเรทติ้งปรับตัวลดลง 2% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าการเติบโตของยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่ง แต่การอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังคงมีความระมัดระวังอันเนื่องมาจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้ซื้อรถจักรยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแผนการส่งเสริมการขายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยของผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่การแข่งขันที่รุนแรงก็น่าจะสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของทั้งอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง
แนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะค่อยๆ กู้คืนสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์กลับมาได้ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีอัตราส่วนการก่อหนี้ในระดับต่ำ โดยมีสภาพคล่องและความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
สำหรับโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีข้อจำกัดในระยะสั้น ในขณะที่โอกาสในระยะยาวนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถกลับมามีสถานะเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ได้อีกครั้งโดยยังสามารถรักษาผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลงไปมากกว่าเดิม หรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งพิจารณาได้จากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่ลดลงต่ำกว่า 1.5% หรือระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งลดลงต่ำกว่าระดับ 25%