ก.ล.ต.ออกเกณฑ์กำหนดพฤติการณ์ควรสงสัยที่ผู้สอบบัญชีต้องแจ้งกก.ตรวจสอบ

HoonSmart.com>> ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์การกำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยที่ผู้สอบบัญชีต้องแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท มีผล 1 ก.ค.64

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศเพื่อกำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิด และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว ตามมาตรา 89/25* แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว และส่งเสริมการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตามมาตรา 89/25* แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ผู้สอบบัญชี (ในการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชี) มีหน้าที่ในการแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์** หรือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียน หากพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล อาจมีการกระทำผิดตามมาตราที่ระบุไว้ในมาตรา 89/25* เช่น การเบียดเบียนเอาทรัพย์ของนิติบุคคลไปโดยทุจริตหรือการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ตามกฎหมาย อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล หรือเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร

ก.ล.ต. จึงจัดทำประกาศโดยกำหนดให้พฤติการณ์อันควรสงสัย และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพบัญชี จรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เช่น มาตรฐานการสอบบัญชีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน และการพิจารณากฎหมายและข้อบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน โดยประกาศดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564