HoonSmart.com>>จับตา”ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์” (SCM) เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ “สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์”ถูกฟอร์ซเซล 23-25 ธ.ค.67 สะส่างหนี้มาร์จิ้น 3 บล. นำโดย Z.com,โกลเบล็ก,ฟิลลิปฯ และโอนหุ้น 18,512,649 หุ้น ตีราคา 1.27 บาท ชำระหนี้ 23.51 ล้านบาทให้เจ้าหนี้เงินกู้ 4 ราย ยืนยันกลุ่ม “นพกฤษฏิ์ ” กอดหุ้นกว่า 30% ยังคงบริหารงานต่อไป ยอมรับยอดขายปีนี้แย่ ปี 68 หวังโต ขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ เล็งเวียดนาม-อินโดนีเซีย หุ้นเริ่มฟื้น เก็งกำไรสนั่นวอลุ่มแรง 1,300 ล้านบาท
นาย สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ รองประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง จำนวน 210.19 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 34.76%ของทุนชำระแล้ว รายงานก.ล.ต.ว่า วันที่ 23-25 ธ.ค.2567 มีการขายหุ้น SCM และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (วอร์แรนต์) หลายรายการ เพื่อชำระหนี้มาร์จิ้นให้กับบริษัทหลักทรัพย์ 3 รายและโอนหุ้นชำระหนี้ให้กับผู้ให้กู้จำนวน 4 ราย
วันที่ 23 ธ.ค.2567 ขายหุ้น SCM จำนวน 22,100 หุ้น ราคาหุ้นละ 2.84 บาท ทำรายการในตลาดหลักทรัพย์ผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โกลเบล็ก และในวันเดียวกันขายหุ้นอีก 386,600 หุ้น ราคาเฉลี่ย 2.8531 บาท ผ่านบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) หรือ Z.com
วันที่ 24 ธ.ค.2567 ขายจำนวน 203,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 1.82 บาทผ่านบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) และขายผ่าน Z.com จำนวน 125,700 หุ้น ราคาหุ้นละ 1.81 บาท รวมทั้งขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น(วอร์แรนต์) 1,933,300 หน่วย ราคาหน่วยละ 0.17 บาท ผ่านบล.ฟิลลิป ฯ และจำนวน 8,706,667 ราคาหน่วยละ 0.17 บาทผ่านบล.โกลเบล็ก ปัจจุบันคงเหลือจำนวน 14,000,033 หน่วย
วันที่ 25 ธ.ค.2567 ขายหุ้นอีก 1,483,000 หุ้น ราคา 1.27 บาท ผ่านบล.ฟิลลิปฯ และขายผ่าน Z.com จำนวน 720,900 หุ้น ราคา 1.26 บาท
นอกจากนี้ในวันที่ 25 ธ.ค.2567 มีการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ให้กู้เงิน จำนวน 4 ราย ในราคาหุ้นละ 1.27 บาท ได้แก่ นายพัฒน์พงศ์ เลิศชวลิต จำนวน 3,588,700 หุ้น เป็นเงินประมาณ 4,557,649 บาท นายจรัญ แจ่มเวหา 4,652,000 หุ้น เป็นเงิน 5,908,040 บาท นางวิภา พาณิชย์พูลโภคา 5,714,300 หุ้น เป็นเงิน 7,257,161 นางวรรณี มาธนชัย จำนวน 10 ล้านหุ้น เป็นเงิน 12.7 ล้านบาท รวมโอนหุ้น SCM เพื่อชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด 18,512,649 หุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 23.51ล้านบาท
นาย สิทธวีร์ ได้ขายหุ้นและโอนออก เพราะถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้น SCM ดิ่งฟลอร์ติดต่อกัน 4 วัน ( 23-26 ธ.ค.) โดยเฉพาะวันที่ 24 และ 25 ธ.ค. ขายหุ้นที่ราคาฟลอร์ 1.81 บาทและ 1.26 บาทตามลำดับ วันที่ 26 ธ.ค.ก็ปิดที่ฟลอร์ 0.88 บาท เพิ่งมาฟื้นวันที่ 27 ธ.ค. ปิดที่ 0.93 บาท +0.05 บาท หรือ+5.68% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากผิดปกติถึง 1,300 ล้านบาท
ด้านนายสิทธวีร์ เปิดเผยกับ”หุ้นสมาร์ท”ว่า ราคาหุ้น SCM ร่วงฟลอร์มา 4 วันซ้อน เป็นผลจากบริษัทหลักทรัพย์จีเอ็มโอ-แซคคอมฯได้ยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้น และได้มีการบังคับขายหุ้น SCM ออกมาทั้งหมด โดยขายในทุกราคา ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นที่มีหุ้น SCM เมื่อเห็นราคาร่วงก็ผสมโรงขายออกมาด้วย ทำให้ราคาหุ้น SCM ฟลอร์ต่อเนื่องมาหลายวัน เพราะโบรกฯอื่นก็บังคับขายหุ้น SCM ตามด้วยเช่นกัน
“Z.com ปิดบัญชีมาร์จิ้น ทำให้ผมต้องถูกบังคับขายหุ้น SCM ออกมา ขายในทุกราคา พอราคาร่วงฟลอร์ บริษัทหลักทรัพย์อื่นขายตามด้วย ทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี “นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร” และผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่น ยังคงสัดส่วนการถือหุ้น SCM มากกว่า 30% ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งยังคงบริหารงานต่อเนื่องไป ส่วนผมไม่ทิ้ง SCM เพราะสร้างมากับตัว”นายสิทธวีร์กล่าว
สำหรับผลดำเนินงานในปี 2567 ยอมรับว่าไม่ดี ยอดขายตกลงจริง เป็นผลจากเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี และยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายอย่างเข้ามาในตลาดมากขึ้น การแข่งขันในตลาดจึงสูง รวมถึงกรณีของ”ดิไอคอน”ก็มีผลกระทบบ้าง อย่างไรก็ดี ปี 2568 บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะสร้างผลงานให้มีการเติบโต ด้วยการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศ โดยคาดว่าจะไปขยายตลาดที่ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ก่อน
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ราคาหุ้น SCMปรับตัวลงฟลอร์ติดต่อกัน 4 ฟลอร์ เกิดจากการบังคับขายหุ้นบัญชีมาร์จิ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย รวมกันกว่า 240 ล้านหุ้น ซึ่งนำไปค้ำประกันสินเชื่อกับ Z.com ซึ่งผู้ถือหุ้นนำเงินไปลงทุนธุรกิจ แต่ผลตอบแทน ไม่กลับมาทันที ไม่สามารถนำเงินกลับมาชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดที่ บล. Z.com เรียกคืนมาร์จิ้น 20 ธ.ค.ได้ทัน จึงถูกบังคับขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง และการฟอร์ซเซลได้จบแล้ว โดยหุ้นถูกบังคับขายออกมาหมดเกลี้ยง
สิ่งที่หวั่นเกรง คือ ผู้ถือหุ้นใหม่ ที่เข้ามาซื้อหุ้น และคาดว่า น่าจะถือหุ้นใหญ่รายใหญ่ แทนผู้ถือหุ้นเดิม บริษัท SCM จะดำเนินการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อไป
“สิ่งที่เกิดกับหุ้น SCM เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ หรือการถูกเทคโอเวอร์ได้ บริษัทจะต้องปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อไป เพื่อดูนักลงทุนรายใหม่ ที่เข้ามาถือหุ้น”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดจากการปรับตัวของโมเดลธุรกิจ ที่เปลี่ยนจากการขายตรง สู่การขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัว ส่งผลให้ยอดขายได้รับผลกระทบ ยอมรับว่า ยอดขายตรงไม่ได้เติบโตเหมือนก่อน
———————————————————————————————————————————————————–