KTAM Focus : Too Big to Sell


โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

 

ควันหลงสงคราม Short Squeeze ขุนคลังใหม่ป้ายแดง Janet Yellen เรียกประชุมร่วมเฟดและหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์เพื่อหารือประเด็นความผิดปกติในตลาด จากกรณีปั่นหุ้นฟรีโฟลตต่ำหลายตัวนำโดย GameStop และ AMC (ความเดิมตอนที่แล้วหาอ่านได้ใน “Investment Distancing” 31 ม.ค.)

จัดระเบียบ? เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดผู้คุมกฎตลาดและระบบการเงินของสหรัฐซึ่งเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย SEC (Securities and Exchange Commission), CFTC (Commodity Futures Trading Commission), FRB (Federal Reserve Board) และเฟดสาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณ “จัดการแน่” แต่ขอดูรายละเอียดก่อน ขณะสังคมจับตา (ปนครหา) “เยลเลน” ซึ่งได้รับอนุญาตจากฝ่ายกฎหมายด้านจรรยาบรรณให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะช่วงหลังพ้นเก้าอี้ประธานเฟด-ก่อนนั่งรัฐมนตรีคลัง เธอได้เงิน “ค่าบรรยาย” (speaking fees) > $700,000 จากบริษัทหลักทรัพย์ Citadel ผู้เป็น market maker พัวพันธุรกรรมมากมายในสงครามลงทุนบันลือโลกดังกล่าว แต่ไม่ว่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ความเคลื่อนไหวนี้ส่งสัญญาณ “จัดระเบียบตลาด” ซึ่งอาจพลิกเกมการเงินการลงทุนในอนาคตอันใกล้

Mohamed El-Erian กูรูเศรษฐศาสตร์ชั้นเซียน ย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับ “ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์” จากการปั๊มสภาพคล่องปริมาณมหาศาลโดยธนาคารกลาง ซึ่งกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนโถมเข้าไปเล่นเกมเสี่ยงกันอย่างเลยเถิด “อุบัติเหตุตลาด” (market accident) จึงมีโอกาสเกิดมากขึ้น ปรากฏการณ์ปลาย ม.ค. (GameStop, AMC) เกือบกลายเป็นอุบัติเหตุ แต่หลบเลี่ยงได้อย่างฉิวเฉียดเพราะ “อะไรหลายอย่าง” และแทบไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด นอกจากนี้ ยีลด์พันธบัตรอายุยาวพุ่งทะยาน มีโอกาสขึ้นต่อและเศรษฐกิจจริงคงรับไหว แต่หลักทรัพย์ที่แพงเกินไปในตลาดอาจเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะในสายตานักลงทุนจำนวนมากที่ใช้ DCF (Discounted Cash Flow) ประเมินมูลค่าเหมาะสม

เหรียญมีสองด้าน “หุ้นยอดแย่” โดนขายชอร์ตเยอะ (crowded short) เปิดช่องให้ทำ short squeeze ดังนั้นในทางตรงข้าม “หุ้นยอดนิยม” ที่คนแห่ซื้อมากๆ (crowded long) ก็อาจตกเป็นเป้าของการทำ long squeeze ด้วยเช่นกัน

Long Squeeze เป็นสิ่งตรงข้ามกับ short squeeze หมายถึงปรากฏการณ์ที่สินทรัพย์เช่น หุ้น ซึ่งเพิ่งผ่านช่วงเวลาดีๆวิ่งขึ้นร้อนแรงจนราคาสูงลิ่ว แต่ถึงจุดหนึ่งกลับเผชิญแรงเทขายทำให้ราคาร่วงหนัก (ลงจังหวะแรกมักจุดพลุโดย “ขาชอร์ต” เช่น hedge funds) กระตุ้นให้นักลงทุนบางส่วนที่ถืออยู่ (มีสถานะซื้อหรือ long positions) เทขายหุ้นออกมา ช่วยกระทืบราคาลงต่อไปอีก บีบคนที่ “ลุกช้า” จนทนไม่ไหว ตัดใจขายปิดสถานะเป็นระลอกๆเพื่อจำกัดผลขาดทุน ยิ่งหุ้นมีสภาพคล่องน้อยหรือฟรีโฟลตต่ำ พอเกิด long squeeze ราคาก็ยิ่งมีโอกาสร่วงลงรุนแรงมากได้

Too Big to Sell? บทความ “Cathie Wood Has Wall Street’s Hottest Hand. Maybe Too Hot.” เขียนโดยคอลัมนิสต์ Jason Zweig เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Wall Street Journal วันที่ 5 ก.พ. หยิบยกความสำเร็จยิ่งใหญ่ของอีทีเอฟตระกูล ARK ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารโตเร็วเกิน 5 เท่าภายในเวลาไม่ถึงปี ทว่าความนิยมชมชอบของชาวโลกกำลังเพิ่มความยากในการรักษาฟอร์มเทพ ด้วยความที่ ARK แต่ละกองทุนถือหุ้นไม่ถึง 60 บริษัท นับว่าน้อยและกระจุกตัวกว่าอีทีเอฟไซส์ใหญ่อื่นๆ ข้อมูล FactSet เผย 43.5% ของหุ้นในพอร์ตนั้น ARK เข้าไปถือเกิน 10% ของทั้งบริษัท (คำนวณจาก all shares outstanding) ถ้าผู้จัดการกองทุนอยากขายตัวใดออกไปหรือโดนไถ่ถอนหน่วยเยอะๆก็อาจกดราคาหุ้นพวกนี้ลงได้มาก …กองทุนเปิดทั่วไปป้องกันปัญหาไม่ยากด้วยการหยุดรับเงินใหม่ (soft closing) แต่ ARK ทำแบบนั้นไม่ได้เพราะเป็นอีทีเอฟ… กลยุทธ์ที่ Cathie Wood (CEO & CIO) ใช้แก้ทางคือ กระจายซื้อหุ้นขนาดใหญ่สภาพคล่องสูงในตลาดขาขึ้นเพื่อเก็บไว้ใช้เป็น “แหล่งเงิน” ช่วงขาลง โดยขายหุ้นตัวใหญ่แล้วไปซื้อหุ้นตัวเล็ก (ซึ่งมักจะร่วงหนักกว่า)

ความเสี่ยง long squeeze อาจใหญ่กว่าที่คิด หากรวม positions ของบรรดา copycats หรือสถานะลงทุนของเหล่าแฟนพันธุ์แท้ที่พยายามซื้อขายหุ้นตาม ARK (ไม่รู้ว่ามากเท่าไหร่) เพราะอีทีเอฟเปิดเผยพอร์ตโปร่งใสเป็นรายวัน อานุภาพความรุนแรงจากการแห่ตามกระแสนั้นได้เห็นกันจะๆไปแล้วในขาขึ้น …ทว่ายังรอให้พิสูจน์ในทิศทางตรงข้าม

Disruptive Innovation ยังก้าวล้ำนำโลกต่อไป ส่วนราคาหุ้นสุดฮอตจะไปต่อหรือพอแค่นี้ก่อน…ไม่อยากเดา เท่าที่รู้คือ หุ้นสหรัฐหลายกลุ่มซื้อขาย ณ ระดับราคาสูงกว่าปกติมาก โดยพึ่งพาท่าทีผ่อนคลายสุดขั้วและต่อเนื่องยาวนานของเฟด ดังนั้น หากเศรษฐกิจจริงดีขึ้นเรื่อยๆจนพอจะยืนได้ด้วยตนเอง แล้วเฟดหันมาโฟกัส “เสถียรภาพตลาด” อย่างจริงจังเมื่อใด ก็อาจต้องเตรียมนับถอยหลังไปยังการขึ้นดอกเบี้ยหรือถอน QE …แม้ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณชัดๆแต่ “เค้าลางเริ่มปรากฏ” จึงควรเฝ้าสังเกตตลาดบอนด์และท่าทีตอบสนองของเฟด ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนในตลาดปรับ mindset ครั้งใหญ่ และส่งผลเปลี่ยนแปลง “จ่าฝูง” ในตลาดหุ้น

โมเมนตัมตลาดหุ้นแทบทั้งโลกยัง bullish ควรถือ let profits run ทุกตัวที่เราเน้น และอาศัยจังหวะหุ้นราคาดีแบ่งขายกำไรออกไปบ้างอย่างมีวินัย เพื่อสะสมสภาพคล่องเตรียมแสวงโอกาสรอบต่อไป ถ้าใครมีเงินสดเหลือเฟือก็อาจพิจารณาเข้าซื้อบางตัวที่น่าสนใจจริงๆ เรายังคงชอบ “หุ้นจีน” มากสุดเพราะเศรษฐกิจโตดีกว่าที่อื่น สนับสนุนการดำเนินนโยบายอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ “หุ้นเอเชีย” ก็โชว์ความแกร่งเหนือกว่าอีกหลายตลาดในช่วงพักฐานที่เพิ่งผ่านไป


คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านบทความอื่นๆ

KTAM Focus : Investment Distancing