ความจริงความคิด : ประกันสุขภาพเรื่องจำเป็น

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

2 – 3 ปีก่อน ภาวะฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้หลายๆคนไม่สบายกันเป็นแถว มาปีนี้ก็เจอ Covid19 เข้าไปอีก ตัวเลขล่าสุดที่ดูวันนี้ (20 พ.ย. ) มีคนติดเชื้อโควิดทั่วโลก 56 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้ว 1.34 ล้านคน น่ากลัวมาก

แต่เมื่อลองไปหาข้อมูลดูว่าโลกเราเคยเจอโรคร้ายแรงอย่างโควิด19 บ้างป่าว แล้วเป็นยังไงกันบ้าง ขอขอบคุณข้อมูลจากบทความในเว็บไซด์ของธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะทำให้รู้เลยว่า คำว่า โลกกับโรค มีความสัมพันธ์มากกว่าแค่ออกเสียงเหมือนกัน โลกเราเจอโรคร้ายแรงมาหลายครั้งแล้ว

กาฬโรค พ.ศ.๒๒๖๓ (1720)
กาฬโรค (Plague) เกิดปี 2263 มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 100,000 คน ในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยหมัดหนูติดกับตัวหนูที่อยู่ใต้ท้องเรือสำเภาซึ่งเดินทางไปติดต่อค้าขายในดินแดนต่างๆ ผู้ป่วยกาฬโรคจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า “ความตายสีดำ” หรือ “Black Death” กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ส่วนอาการของผู้รับเชื้อกาฬโรคจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ จากนั้นจะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต

อหิวาตกโรค ปีพ.ศ.2363 (1820)
อหิวาตกโรค (Cholera) หรือที่เรียกว่า “โรคห่า” บ้างก็เรียกโรคป่วง บ้างเรียกโรคลงราก ได้ระบาดไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2363 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณสามหมื่นคน ทั่วโลกประมาณหนึ่งแสนคน ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นช่วงเวลาราวหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตกว่าห้าพันคน จนกระทั่ง พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้ง และเวลาเพียงเดือนเศษหนังสือพิมพ์ ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกมากถึง 6,660 คน

ไข้หวัดใหญ่สเปน พ.ศ.2461(1920)
ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ระบาดรุนแรงทั่วโลกระหว่างปี 2461-2463 เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะทำให้มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในยุคนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 20-50 ล้านคน ในจำนวนผู้ป่วย 500 ล้านคนที่ติดเชื้อในปี 2461 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 10-20% และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคนเฉพาะในช่วง 25 สัปดาห์แรก สิ่งที่ทำให้ไข้หวัดใหญ่สเปนแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่อื่น ๆ คือกลุ่มผู้เสียชีวิต โดยปกติไข้หวัดใหญ่มักคร่าชีวิตกลุ่มเด็กและคนสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อ่อนแออยู่แล้วมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ไข้หวัดใหญ่สเปนเริ่มจากการคร่าชีวิตผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่กลุ่มเด็กและคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนกว่า กลับเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่น

ไข้หวัดใหญ่เอเชีย พ.ศ. 2499 – 2501(1965-1967)
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) เป็นการระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ของเชื้อไข้หวัดกลุ่มเอ (เอช2 เอ็น2) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจีนเมื่อปี 2499 และมาหยุดระบาดเมื่อปี 2501 ในระยะเวลา 2 ปีนี้เอง ไข้หวัดใหญ่เอเชียลุกลามจากกลุ่มชาวจีนในมณฑลกุ้ยโจว ไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐ ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่นี้ของแต่ละแหล่งแตกต่างกันออกไป บางแหล่งคาดว่าสูงถึง 4 ล้านคน แต่ WHO ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ราว 2 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เกือบ 70,000 คนอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง พ.ศ.2511 (1968)
โรคไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) ซึ่งเกิดจากเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ H3N2 ถูกพบครั้งแรกในเกาะฮ่องกงเมื่อเดือน ก.ค. 2511 ก่อนลุกลามไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ใน 3 เดือน และขยายวงไปยังอินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ และสหรัฐ เชื้อไข้หวัดนี้ซึ่งกลายพันธุ์จากโรคไข้หวัดใหญ่เอเชียที่ระบาดก่อนหน้าราว 10 ปี เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์น้อยกว่า เมื่อเทียบกับไข้หวัดสเปนและไข้หวัดเอเชีย และแม้จะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำเพียง 5% แต่ก็ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตไปกว่า 1 ล้านคน สำหรับในฮ่องกง จุดเริ่มต้นการระบาด มีผู้ป่วยมากถึง 500,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรฮ่องกงในเวลานั้น

เอชไอวี / เอดส์ ระบาดสูงสุด 2548 – 2555 (2005-2012)
โรค HIV หรือ AIDS ถูกพบครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2519 โรคเอชไอวี/เอดส์ ได้วิวัฒนาการตัวเองอย่างมากจนระบาดไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 36 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2524 ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสเอชไอวี 31-35 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ประมาณ 21 ล้านคนอยู่ในแถบซาฮาราของแอฟริกา หลังเกิดการตื่นตัวต่อโรคเอดส์มากขึ้น วงการแพทย์ทั่วโลกก็พัฒนาวิธีการในการควบคุมไวรัสเอชไอวี และทำให้หลายคนที่ติดเชื้อนี้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติขึ้น ระหว่างปี 2548-2555 จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์/เอชไอวีทั่วโลก ลดลงจาก 2.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 1.6 ล้านคนต่อปี

ไข้หวัดใหญ่ 2009 พ.ศ. 2552 (2009)
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2009 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม เอ (เอช1 เอ็น1) ที่มีรายงานพบเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2552 เริ่มแพร่ระบาดในเม็กซิโก และสหรัฐ ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก เชื้อสายพันธุ์นี้มีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้ WHO ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อเอช1 เอ็น1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น เนื่องด้วยโรคดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญในช่วงเวลานั้น สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) คาดการณ์ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ WHO ยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 คนทั่วโลก

COVID -19 พ.ศ.2563 (2020)
คือโรคร้ายแรงตัวสุดท้ายที่เรากำลังเจอกันอยู่ตอนนี้
แน่นอนนะ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคดีที่สุด แต่หากเราไม่วางแผนเผื่อสำหรับการติดโรคก็อาจจะประมาทเกินไป เพราะเชื้อโรคตัวเลขมาก เรามองไม่เห็น และสามารถติดต่อได้ทั้งการสัมผัส หายใจ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าเกิดติดโรคหรือไม่สบายแล้ว เราจะวางแผนอย่างไรดี โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ปัจจุบันแพงมาก แถมยังเป็นค่าใช้จ่ายที่มากและบริหารยากด้วย เพราะไม่รู้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ และต้องจ่ายเท่าไหร่ จนหลายๆคนถึงกับหมดตัว ลูกหลานหมดอนาคตการเรียน เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องนำเงินที่เก็บออกไว้มารักษาตัว การบริหารค่ารักษาพยาบาลที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ การซื้อประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพจะประกันแบบเบี้ยจ่ายทิ้ง คือ หากเจ็บป่วย ก็ได้รับการคุ้มครอง แต่หากไม่เจ็บป่วย จะไม่ได้รับเงินคืน พูดง่ายๆก็เหมือนประกันรถยนต์ที่เราชอบซื้อกัน หากต้องการความคุ้มครองต่อเนื่อง ก็ต้องส่งเบี้ยประกันไปตลอด ถ้าหยุดจ่ายเมื่อไหร่ ความคุ้มครองก็หยุดตอนนั้น และถ้าจะซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตต้องซื้อเป็นสัญญาเป็นสัญญาเพิ่มเติม คือต้องซื้อประกันชีวิตตัวหลักก่อน โดยสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพมี 4 แบบ คือ

แบบที่ 1 : เพื่อรักษา ในกรณีที่เราเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ทั้งการรักษาแบบผู้ป่วยนอก, แบบผู้ป่วยใน
แบบที่ 2 : อุบัติเหตุ ในกรณีนี้ประกันจะมีผลต่อเมื่อเราได้รับอุบัติเหตุและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
แบบที่ 3 : สูญเสียความสามารถหรือเรียกอีกอย่างว่า “ทุพพลภาพ”
แบบที่ 4 : ชดเชยรายได้

หรือจะแบ่งตามการชำระเบี้ย ก็ได้ 2 แบบ คือ

1.Premium Paying Rider (PPR) เป็นสัญญาเพิ่มเติมที่จ่ายเบี้ยประกัน และให้ความคุ้มครองปีต่อปี ปีไหนไม่จ่ายหรือจ่ายพ้นระยะเวลาผ่อนผัน สัญญาก็จะสิ้นสุดความคุ้มครองทันที

ข้อดี คือ จ่ายเบี้ยตามความเสี่ยงจริง เบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ อายุน้อย มีความเสี่ยงน้อย เบี้ยที่ต้องจ่ายก็น้อย อายุมากขึ้น ความเสี่ยงมากขึ้น เบี้ยที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้น ยุติธรรมดี

ข้อเสีย ก็เพราะเบี้ยประกันปรับเพิ่มตามอายุเช่นกัน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น รายได้เริ่มน้อยลง โดยเฉพาะช่วงเกษียณอายุที่ไม่มีรายได้ประจำแล้ว แต่เบี้ยประกันกลับสูงขึ้น ทำให้บริหารค่าใช้จ่ายยาก ทำให้หลายคนจ่ายไม่ไหวต้องยกเลิกไปก่อน และปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นตอนช่วงอายุสูงๆที่จ่ายไม่ไหวนี่แหละ

2.Unit Deducting Rider (UDR) เป็นสัญญาเพิ่มเติมแบบที่ชำระค่าการประกันภัยโดยการขายคืนหน่วยลงทุนบางส่วนมาจ่ายค่าใช้จ่าย ซึ่งใช้ได้กับกรมธรรม์ชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) เท่านั้น

ข้อดี คือ เบี้ยประกันสุขภาพคงที่ตลอดอายุสัญญาไม่มีการปรับเพิ่มตามอายุ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนในเรื่องเบี้ยประกันในระยะยาว ที่บริษัทประกันสามารถเก็บเบี้ยประกันสุขภาพคงที่ได้ตลอดอายุสัญญา ก็เพราะในช่วงต้นของสัญญา คือ ช่วงอายุน้อยๆ เบี้ยประกันสุขภาพแบบ UDR จะแพงกว่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบ PPR เพื่อบริษัทประกันจะได้นำค่าเบี้ยที่เก็บแพงขึ้นไปลดค่าเบี้ยที่เราต้องจ่ายแพงตอนอายุเยอะๆนั้นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพแบบไหน การซื้อประกันสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะช่วยบริหารความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีใครหนีพ้น และนอกจากนี้เรายังสามารถเอาค่าเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีเงินได้ได้อีก 25,000 บาทอีกด้วย แต่ถึงแม้ประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ควรมี เราก็ต้องพิจารณาการซื้ออย่างรอบคอบ เช่น

1.เบี้ยที่ต้องจ่ายไหวมั๊ย
2.ค่ารักษาพยาบาลในพื้นที่ที่เราอยู่แพงมั๊ย ถ้าไม่แพงก็ไม่จำเป็นต้องทุนประกันสูง
3.เรามีความเสี่ยงเป็นโรคอะไรหรือเปล่า อย่างเช่น ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง ก็ควรทำประกันคุ้มครองโรคมะเร็ง
4.สวัสดิการเรามีอะไรแล้ว ซื้อเฉพาะส่วนที่ขาดเพื่อเติมเต็มความจำเป็น

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ออมเงินให้ลูก ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ความจริงความคิด : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินฝากกับภาษี

คอลัมน์ความจริงความคิด : 10 ข้ออ้างของการไม่วางแผนเกษียณ

คอลัมน์ความจริงความคิด : ข้อผิดพลาดในการวางแผนเพื่อเกษียณอายุ