กระทรวงพาณิชย์ เปิดอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ขยายตัว 1.38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.09% จากเดือนพ.ค. ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ปรับลดประมาณเงินเฟ้อใหม่แคบลงเป็น 0.8-1.6%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนมิ.ย.2561 อยู่ที่ 102.05 ขยายตัว 1.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบเดือน พ.ค.2561 ลดลง 0.09%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.38% แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ที่อัตราเงินเฟ้อ 1.49% แต่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดพลังงานที่ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ในขณะที่อาหารสดลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.97%
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 12 เดือน เป็นผลจากหมวดพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 12.90% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท รวมทั้งก๊าซรถยนต์ รองลงมาเป็นหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.86% หมวดเคหะสถาน สูงขึ้น 1.12% หมวดการตรวจรักษาและการบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.65% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.55% เป็นต้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าในเดือนมิ.ย. รวมทั้งสิ้น 422 รายการที่ใช้ในการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค พบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 217 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม, น้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซหุงต้ม, ค่ากระแสไฟฟ้า, ค่าเช่าบ้าน, บุหรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 125 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, น้ำมันพืช, ไข่ไก่, ไก่สด, สับปะรด, ครีมนวดผม, น้ำยาล้างจาน, โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 80 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.02 ลดลง 0.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.15% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.61 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.09 ขยายตัว 2.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.61
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่ให้แคบลงมาอยู่ที่ 0.8-1.6% จากเดิม 0.7-1.7% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 1.2% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังที่กำหนดไว้ที่ 1-4%
“เราได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ให้แคบลงมาอยู่ที่ 0.8-1.6% ซึ่งตอนนี้ถือว่าเกินกรอบล่างแล้ว เพราะล่าสุดครึ่งปีแรกอยู่ที่ 0.97% คาดว่าทั้งปีจะได้ 1.2% แน่นอน ส่วนไตรมาส 3 คาดว่าอยู่ที่ 1.35% และไตรมา 4 อยู่ที่ 1.5%” ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว
การปรับอัตราเงินเฟ้อยังมีสาเหตุมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.2-4.7% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 3.6-4.6% นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิม 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงเดิมในกรอบ 32-34 บาท/ดอลลาร์
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกไทยในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อราคาสินค้าเกษตร และอาหารที่มีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับรายได้ภาคเกษตร เช่น กลุ่มข้าว, มันสำปะหลัง และข้าวโพดที่มีราคาขายในประเทศสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะต่อไป
“เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้รายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ราคาขายสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้การบริโภคฟื้นตัวต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ