HoonSmart.com>>ต้องบอกว่าเป็นมหากาพย์ที่ซับซ้อนของปัญหา ขุมทรัพย์ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีตัวละครหลัก ๆ 3 ฝ่าย ที่ล้วนมี “ณพ ณรงค์เดช” เป็นศูนย์กลาง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ฝ่ายที่ 1. นพพร ศุภพิพัฒน์ & ณพ
ฝ่ายที่ 2 ณพ & ครอบครัว “ณรงค์เดช”
ฝ่ายที่ 3 ณพ & ประเดช กิตติอิสรานนท์ (รวมผู้ถือหุ้นอื่น)
เรื่องร้อน ๆ ที่เกิดขึ้น มาจากจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่ “ณพ” ซื้อหุ้น Renewable Energy (REC – หรือชื่อใหม่ เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ (ไทย ) ) จาก “นพพร” ทั้งหมด 100 % มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ต้นทุน “ณพ” ประมาณ 375 บาท ) เมื่อก.ย. 2558 หรือ 5 ปีมานี้ แต่มีการจ่ายเงินเพียง 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลืออีก 525 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับรวมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมศาลที่ ณพ แพ้คดี เบ็ดเสร็จเกือบ 680.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง “นพพร” ประกาศทวงกลางอากาศข้ามทวีปจากฝรั่งเศส พร้อมกับคดีที่ยังไม่สิ้นสุดหลายคดี สวนทางคำบอกกล่าวของ “ณพ” ในวันแถลงข่าวกลางสัปดาห์เดียวกัน
หัวใจสำคัญของการแย่งชิง REC อยู่ที่ การเป็นเจ้าของ WEH สัดส่วน 59 % ดังนั้นเมื่อ ณพ ซื้อหุ้น REC เท่ากับได้เป็นเจ้าของ WEH ด้วย 59%
จุดเริ่มต้นของปัญหา จากคำกล่าวของ “นพพร “ คือ ณพ ไม่มีเงินจ่ายค่าสินค้า โดยเงินที่นำมาจ่ายเบื้องต้น 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จ่ายไม่ตรงกำหนด หนำซ้ำเงินที่นำมาจ่าย “ณพ” ได้ไปหยิบยืม มาจากหลายส่วน ซึ่งมีทั้งเงินครอบครัว , เงินกู้ยืม , เงินจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน , เงินจากการขายหุ้น WEH ให้นายประเดช ให้บริษัท เอคิว เอสเตท (AQ) ให้นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ แอร์เอเซีย รวมไปถึงเงินจาก WEH ด้วย
เงื่อนไขการจ่ายเงินของ “ณพ” ไปผูกอยู่ที่การสร้างและขายไฟ 5 โครงการ (COD) จำนวน 450 เมกกะวัตต์ และการเข้าตลาดหุ้นของ WEH หลังจากที่ “ณพ” รับหุ้น WEH ทั้งหมดไปก่อนการจ่ายเงิน หลังจากที่ “นพพร” ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแล้ว เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่า เพราะอะไร ทำไม “นพพร” ถึงไว้ใจ โอนหุ้นให้ “ณพ” ก่อน
ตามสัญญาการซื้อขาย 700 ล้านเหรียญ กำหนดวางมัดจำงวดแรก 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงกำหนดจ่าย “ณพ” ขอผัดผ่อน แต่ก็สามารถ ไปหยิบยืมหาเงินมา และทำให้ มีการฟ้องร้องแตกแขนงออกไป เช่น เงินจากครอบครัว พี่-น้อง ณรงค์เดช ที่มาของคดีปลอมลายเซ็น นายเกษม โอนหุ้น โกลเด้น มิวสิค ที่จดทะเบียนในฮ่องกง ตกไปเป็นของ คุณหญิง กอแก้ว บุณยะจินดา แม่ยาย “ณพ” เป็นคดีอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ และฟ้องคดีแพ่ง เพื่อให้หุ้น WEH สัดส่วน 59 % ภายใต้ร่มกลับมาเป็นของครอบครัว “ณรงค์เดช” ทั้ง 2 คดีฟ้องปลอมลายเซ็นต์ ยังเดินอยู่ในไทย
เงินจาก “ประเดช” ที่ ณพ ยกหุ้น WEH ออกจากโกลเด้น มิวสิค ขายออกไปให้ “ประเดช” ราว 13 % หุ้นดังกล่าวโอนไปให้ “ประเดช” ว่ากันว่า เป็นการเอาหุ้น WEH หนีออกจาก โกลเด้น ฯ หุ้นส่วนนี้ “ประเดช” ไม่โง่ ที่ไม่จ่ายเงินจนกว่า WEH จะเข้าตลาดหุ้น ซึ่งประเดช ไม่ได้มีแค่หุ้น WEH 13 % เท่านั้น เป็นเพียงการซื้อเพิ่มเติม จากที่ถืออยู่ก่อนหน้านี้ รวมขณะนี้ “ประเดช” และครอบครัว มีหุ้นสูสี กับ “ณพ” ตรงนี้จะเป็นจุดตัดสำคัญ ชี้ชะตา การช่วงชิงคุมอำนาจบริหารงานใน WEH ขณะนี้
เมื่อ “ณพ ” จ่ายเงิน “นพพร” ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า ไม่ครบถ้วน เจ้าของก็ต้องฟ้องศาลโลก (อนุญาโตตุลาการ) ขอยกเลิกการขายหุ้นให้ “ณพ”
นพพร บอกว่า อนุญาโต ฯ ชี้ขาดให้ตนเองชนะ …. บริษัทของ ณพ 2 บริษัท ” ฟูลเลอร์ตัน และ เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง ” ที่ทำสัญญาซื้อขาย จ่ายเงินให้กับ 3 บริษัท ของ นพพร (ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ด, เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์, ไดนาคิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นเจ้าของ REC) ซึ่ง “นพพร” ได้รับเงินก้อนนี้ 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ช้ากว่ากำหนดเกือบ 4 ปี (ตามกำหนด ต.ค. 2558 ตามตาราง) ยังมีเงินที่ต้องชำระตามสัญญาอีก รวม ๆ ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมศาลประมาณ 700 ล้านเหรียญ หรือ กว่า 2 หมื่นล้านบาทขณะนี้ ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของโกลเด้น มิวสิค มีหน้าที่ต้องนำเงินมาชำระหนี้ให้กับ “นพพร” เจ้าของหุ้น
เมื่อ “นพพร” ไม่ได้รับเงินค่าขายของ มิหนำซ้ำหุ้น WEH ยังถูกจำน่ายถ่ายโอนขายออกไปยังตัวละครมากมาย “นพพร” จึงร้องศาลที่อังกฤษ ให้ระงับการจำหน่ายถ่ายโอนหุ้น WEH ออกจากโกลเด้นมิวสิค รวมทั้งได้ฟ้องเหมาแข่ง แบงก์ไทยพาณิชย์ , นายวีระวงศ์ จิตมิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย “ณพ” และเป็นกรรมการอิสระ ที่วางแผนยักย้ายถ่ายเทหุ้น WEH ออกจากโกลเด้น มิวสิค รวมทั้งฟ้อง ณพ และบริษัท คดีโกงเจ้าหนี้ ฟ้อง “ประเดช” ร่วมรับของโจร
ดังนั้น ปัญหาของ WEH จึงไม่ใช่แค่ การซื้อหุ้น REC เจ้าของ WEH แล้วไม่จ่ายเงิน แต่ยังมีเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่ง “นพพร” บอกว่า มีความเชื่อมั่นอย่างสูงในกระบวนการยุติธรรมของศาลอังกฤษ และมั่นใจชนะดีด้วยหลักฐานที่มี กรณีที่ศาลในอังกฤษ ตัดสินให้ตนชนะ จะสามารถบังคับคดีให้ โกลเด้น มิวสิค ขายทอดตลาดหุ้น WEH ราว 40 % ได้ทันที เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับตน
ระหว่างทางที่คดีการฟ้องร้อง ดำเนินการไป “ณพ” ได้ขอสินเชื่อแบงก์ไทยพาณิชย์ ราว 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการค้างท่อ 450 เมกกะวัตต์ จำนวน 5 โครงการสำเร็จ เป็นเครดิตล้วน ๆ ของ “ณพ”
การยืดเวลาชำระเงินของ “ณพ” เกิดขึ้นทันที โดยใช้เงื่อนไข ” การขายของไม่ตรงสเปก หรือขายของไม่ตรงปก ” ฟ้อง “นพพร” กรณีปัญหาที่ดิน สปก. ที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า สปก. นำที่ดินไปเอื้อประโยชน์ให้โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่ง WEH อยู่ในข่ายนี้ด้วย แต่ปัญหาทั้งหมดได้รับการแก้ไขโดยมาตรา 44 กระทั่ง 5 โครงการจำนวน 450 เมกกะวัตต์ของ WEH สำเร็จ “ณพ” จึงฟ้องศาลสิงคโปร์ว่า “นพพร” ขายของผิดสเปก กระทั่งศาลสิงคโปร์ยกฟ้องเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
การดำเนินงานของ WEH เติบโตขึ้นต่อเนื่อง หลังขายไฟฟ้าครบทุก 8 โครงการ รวม 717 เมกกะวัตต์ ปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้ 12,058 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,888 ล้านบาท กลายเป็นที่มาของปัญหา ระหว่าง “ประเดช” และผู้ถือหุ้นอื่น ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ “ณพ” ลุกจากเก้าอี้การบริหาร
WEH เปรียบเสมอ “ขุมทรัพย์” ขนาดใหญ่ ตามคำกล่าวของ “นพพร” เจ้าของเดิม ที่บอกว่า ทำดี ๆ มูลค่ากิจการ มีโอกาสไปถึง 1 แสน
เมื่อ “ณพ” ที่คุมการบริหาร เป็นศูนย์กลางของปัญหาการฟ้องร้อง เป็นจุดอ่อนที่ “ประเดช” ยกขึ้นมาเรียกร้องให้ปลด “ณพ” และภรรยา ออกจาก WEH ด้วยความเคลือบแคลงสงสัย ต่อธรรมาภิบาล ในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมทั้งคดีต่าง ๆ มากมายของ “ณพ” เป็นอุปสรรคต่อการเข้าตลาดหุ้น ซึ่ง “ประเดช” และนักลงทุน รอคอยด้วยหวังว่า WEH จะเข้าตลาดหุ้นได้ หรืออย่างน้อย เมื่อคดีของผู้ถือหุ้น ไม่สิ้นสุด บริษัทมีธรรมาภิบาล กิจการดี มีการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น เก็บเกี่ยวจากการลงทุน รอให้คดีสิ้นสุดแล้วเข้าตลาดหุ้นได้ ก็ไม่เป็นไร และระหว่างที่คดีอีรุงตุงนัง เชื่อว่า สำนักงานก.ล.ต. ผู้ที่ชี้ขาดการเข้าตลาดหุ้น จะไม่ยอมให้มือเปื้อน อนุญาตให้บริษัทที่มีปัญหาเข้าตลาดหุ้นแม่น่อน
มาถึงตรงนี้แล้ว จุดวัดใจระหว่าง “ประเดช” และ “ณพ” อยู่ที่ ” การโหวตชนะ” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หรือมองให้เลวร้าย การหลีกเลี่ยงการโหวต ด้วยการล้มการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อซื้อเวลาการชี้ขาด การประลองเสียงของมวยคู่สำคัญ “ประเดช & ณพ ” ตอนนี้ถนนทุกสายมุ่งสู่ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ขุมทรัพย์มหาศาล แต่ไม่ว่าใครจะได้ไปจับจอง มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับ “นพพร” เจ้าของตัวจริงกว่า 2 หมื่นล้านบาท บนพื้นฐานง่าย ๆ ของการ เป็นหนี้ ก็ต้องจ่ายเงิน ถ้าไม่มีเงิน ก็ต้องขายบ้าน ขายรถ มาจ่ายเจ้าหนี้ เป็นความต้องการความยุติธรรมบนพื้นฐานง่าย ๆ ตามความคิดของ “นพพร”
อ่านข่าว
“ณพ” ตั้งโต๊ะเคลียร์ WEH เข้าตลาดหุ้น ปักธง 5 ปี กำลังการผลิต 2 พันเมกก์